ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 3/2567

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 3/2567

อัปเดตล่าสุด 16 ธ.ค. 2567
  • Share :
  • 970 Reads   

รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 3/2567 และแนวโน้มไตรมาสที่ 4/2567 เผยแพร่โดย กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีค่าอยู่ที่ 94.74 ลดลงร้อยละ 1.23 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 8 และเป็นการลดลงจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 30-60 เป็นหลัก 

อุตสาหกรรมสำคัญที่ชะลอตัวในไตรมาสที่ 3 ปี 2567  อาทิ ยานยนต์ จากสินค้ารถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์ไฮบริดขนาดมากกว่า 1,800 ซีซี เป็นหลัก จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงอ่อนแอจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งความต้องการของประเทศคู่ค้าชะลอตัว

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตลดลงจากสินค้า IC และ PCBA ส่วนหนึ่งเป็นผลจากตลาดโลกมีความต้องการสินค้าลดลงโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ ตามการชะลอตัวของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้น และราคาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้

อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนโรงกลั่นบางแห่งหยุดซ่อมบำรุงซึ่งในปีนี้สามารถกลับมาทำการกลั่นได้ตามปกติ โดยการผลิตเพิ่มขึ้นจากน้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเบนซิน และก๊าซหุงต้ม เป็นหลัก 

สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง จากสินค้าปลาทูน่ากระป๋อง เป็นหลัก ซึ่งเป็นตามปริมาณวัตถุดิบทูน่าที่มีมาก ตลอดจนราคาปรับตัวลดลงส่งผลให้มีความต้องการจากประเทศคู่ค้ามากขึ้น

เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามความต้องการที่มีมากขึ้นจากสภาพอากาศทั่วโลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น

ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.0 และหดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (2566) ขยายตัวร้อยละ 2.2

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อ GDP ในไตรมาส 3 ของปี 2567 ได้แก่

  • การผลิตภาคเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.5
  • ภาคบริการ ขยายตัวร้อยละ 4.1
  • การใช้จ่ายอุปโภคและบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.4
  • การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 5.2
  • การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.1
  • การส่งออกสินค้าและบริการ ขยายตัวร้อยละ 0.7

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.0 0 โดยขยายตัวเร่งขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.2 และขยายตัวเร่งขึ้นเมื่อเทียบกับ
ช่วงเดียวกันของปีก่อน (2566) ขยายตัวร้อยละ 1.4

GDP ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 หดตัวร้อยละ 0.1  ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (2566) ที่หดตัวร้อยละ 4.4

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญ

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 94.85 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (94.76) ร้อยละ 0.09 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 (95.92) ร้อยละ 1.1

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต
ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 97.33 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (97.30) ร้อยละ 0.03 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 (97.94) ร้อยละ 0.6

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ การผลิตสัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง และการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ในทางการแพทย์และ
ทางทันตกรรม เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์และปูนปลาสเตอร์ และ การผลิตน้ำตาล เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 102.41 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (103.62) ร้อยละ 1.2 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 (103.54) ร้อยละ 1.1

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่  การผลิตน้ำตาล การผลิตสตาร์ช และผลิตภัณฑ์จากสตาร์ช และการต้ม การกลั่น และการผสมสุรา เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และการแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 อัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ระดับร้อยละ 58.32 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 57.75) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 (ร้อยละ 58.35)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตจักรยานยนต์ และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมมีค่า 88.03 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (88.67) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 (91.20) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์
ล่วงหน้า 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 95.27 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 (99.00)

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับตัวลดลงของความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 มาจากปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ เข่น ค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตสูง จากค่าไฟฟ้า ค่าวัตถุดิบที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีจากมาตรการฟรีวีซ่า (Free Visa) ให้กับนักท่องเที่ยวจีน อินเดียและไต้หวัน ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่เริ่มจ่ายให้กลุ่มเปราะบาง เฟสแรก จำนวน 14.5 ล้านคนในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2567 

#อุตสาหกรรมไทย #สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม #MPI Index #ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม #MPI #ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย 2567
 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH