'ยักษ์ไอทีโลก' ปักหมุดลงทุน Data Center ย้ำไทยฮับดิจิทัล

'ยักษ์ไอทีโลก' ปักหมุดลงทุน Data Center ย้ำไทยฮับดิจิทัล

อัปเดตล่าสุด 7 ต.ค. 2567
  • Share :
  • 1,473 Reads   

บีโอไอ ย้ำศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล หลังจากที่ Google และบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ทยอยประกาศแผนการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ยอดส่งเสริมลงทุนล่าสุด รวม 46 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 1.6 แสนล้านบาท เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ช่วยพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน

2 ตุลาคม 2567 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่ Google ได้ประกาศแผนลงทุนสร้าง Data Center และ Cloud Region ในประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 36,000 ล้านบาท สะท้อนถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค จากข้อได้เปรียบในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครือข่าย 5G ระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร มีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด และกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานสากล 2) มีความมั่นคงปลอดภัยและเป็นกลางในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะศักยภาพในการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่มประเทศ CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน 3) บุคลากรที่มีคุณภาพและมีทักษะด้านดิจิทัล 4) ตลาดในประเทศขยายตัวสูง ทั้งดีมานด์จากการยกระดับองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) การกำหนดนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล สัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูง และประชาชนมีทักษะในการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัล และ 5) สิทธิประโยชน์ที่จูงใจ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงเข้าสู่ประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุน Data Center และ Cloud Service ของบริษัทระดับโลก เพื่อรองรับการขยายตัวของ AI และบริการด้านดิจิทัลต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาค

ปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง ซึ่งนอกจาก Google ที่ได้ประกาศแผนลงทุนและยื่นคำขอกับบีโอไอแล้ว ยังมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยแล้วหลายราย อาทิ Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุนในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 โดยในเฟสแรก ได้ลงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการ NextDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท CtrlS จากอินเดีย ลงทุน 5,000 ล้านบาท STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท Supernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท และ One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท  

สำหรับธุรกิจการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) มีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศแล้ว ยังมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงอีกหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ด้วย เช่น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และบริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS  

นอกจากธุรกิจ Data Center และ Cloud Service แล้ว บีโอไอยังส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล ดิจิทัลคอนเทนต์ และกิจการสนับสนุนระบบนิเวศด้านดิจิทัล เช่น กิจการ Innovation Park, Maker Space หรือ Fabrication Lab และกิจการพัฒนาพื้นที่และระบบ Smart City เป็นต้น

“Data Center และ Cloud Service ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และจะทำให้เกิดการทำงานประสานกันระหว่างคนและเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับมีมากมาย โดยเฉพาะการสร้างงานทักษะสูงทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งช่วยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การผลิต การเงิน เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ธุรกิจด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจบริการต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการ Cloud ที่มีคุณภาพสูง และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ช่วยเร่งกระบวนการ Digital Transformation และสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจในโลกยุคใหม่ที่จำเป็นต้องมีทั้งความเร็วและความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล รวมทั้งยกระดับไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค” นายนฤตม์ กล่าว

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH