สสว. เดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการ ผ่านระบบ BDS ปีที่ 3 ชูกลยุทธ์ ESG เพื่อสร้างมูลค่าธุรกิจ ให้กับผู้ประกอบการ

สสว. เดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการ ผ่านระบบ BDS ปีที่ 3 ชูกลยุทธ์ ESG เพื่อสร้างมูลค่าธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ

อัปเดตล่าสุด 19 เม.ย. 2567
  • Share :
  • 711 Reads   

สสว. ยังคงเดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS เข้าสู่ปีที่ 3 รับสมัครผู้ประกอบการ SME เพื่อขึ้นทะเบียนการได้รับบริการสนับสนุน ด้านการพัฒนาธุรกิจ หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีการเลือกใช้บริการบนระบบ BDS ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ปี 2567 ประกาศหนุนผู้ประกอบการ โดยใช้กลยุทธ์การสร้างมูลค่า ธุรกิจ SME ด้วยการพัฒนา องค์กรอย่างยั่งยืน โดยสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)

19 เมษายน 2567 นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า “ในปี 2567 นี้ การรับบริการสนับสนุน ด้านการพัฒนาธุรกิจ หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีการเลือกใช้บริการบนระบบ BDS ใต้แคมเปญ “SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 3 สสว.ได้มีการปรับรูปแบบการดำเนินการให้หลากหลายขึ้น และมุ่งเป้ามากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งบริการที่ผ่านการอัปเกรดอย่างเข้มข้น โดยปีนี้ นอกจาก สสว. จะให้เงินอุดหนุนพัฒนาปรับปรุงกิจการแล้ว สสว.ยังพร้อมให้ความสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยใช้กลยุทธ์การสร้างมูลค่า ธุรกิจ SME ด้วยการพัฒนา องค์กรอย่างยั่งยืน โดยสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, Governance : ESG) สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จของธุรกิจ เพราะการที่องค์กรดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับ ESG อย่างจริงจัง มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม ด้วยบรรษัทภิบาลที่ดี จะส่งผลดีกับธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องภาพลักษณ์ (Branding) ความน่าเชื่อถือ (Trustworthy) ต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า การเข้าถึงแหล่งทุนที่ดี และชื่อเสียงขององค์กรดีขึ้น”

นายวีระพงศ์ กล่าวต่อไป ถึงการสร้างมูลค่าธุรกิจ SME ผ่านกลยุทธ์ ESG ที่ สสว. พร้อมจะผลักดันมี 4 ขั้นตอนสำคัญ เริ่มจาก 1.ให้ความเข้าใจใน ESG 2.พัฒนากรอบแนวทาง ESG 3.ออกแบบและเริ่มโครงการ ESG และ 4.วัดผลและแสดงผล ESG 

นายวีระพงศ์ เปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบัน โครงการ BDS ได้รับความสนับสนุนด้วยดีจากภาคีเครือข่ายผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) หรือหน่วยงานพันธมิตร เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ อาทิ ด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับสมรรถนะพนักงานในสถานประกอบการ และการอบรมตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยมีหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนประมาณ 200 หน่วยงาน ที่เข้ามาขึ้นทะเบียน และเข้ามาให้บริการแล้วกว่า 90 หน่วยงาน ครอบคลุมกว่า 400 บริการ

ด้าน นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) เปิดเผยว่า เป็นปีที่ 3 แล้ว ที่เซ็นทรัลแล็บได้ร่วมโครงการ BDS กับ สสว. “ในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกของผู้ประกอบการ ต้องมีการตรวจมาตรฐานใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนไป เช่น ปี 2567 หลายประเทศสินค้าต้องตรวจค่ามาตรฐานโพแทสเซียม การจะไปหาแล็บโดยตรง ก็มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่หากเข้าร่วมโครงการ BDS ก็จะได้เงินอุดหนุน ช่วยแบ่งเบาภาระ และยิ่งหากเป็นสมาชิก BDS เคยตรวจมาตรฐานบ้างด้านไปแล้ว เราก็จะช่วยดูว่า ต้องตรวจอะไรเพิ่ม เพื่อยกระดับมาตรฐาน และตอบโจทย์ ในการส่งไปจำหน่ายยังประเทศเป้าหมาย”

นายชาคริต กล่าวด้วยว่า ปีนี้เซ็นทรัลแล็บ ได้ร่วมกับ สสว. ในการยกระดับมาตรฐานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น นั่นคือเรื่อง BCG ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ฉะนั้น ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย เพราะต้องถูกประเมินเกี่ยวกับการสร้างมลพิษ สำหรับเซ็นทรัลแล็บจะช่วยดูแลในเรื่องของเกษตร อาหาร และป่าไม้ เป็นการประเมินคาร์บอนเครดิต ถ้าท่านทำธุรกิจโดยปลูกป่าท่านจะได้เครดิตอย่างไร หรือเป็นผู้ประกอบการเกษตรก็อย่านิ่งนอนใจ เพราะเกษตรเองก็สามารถสร้างมลภาวะได้เช่นกัน ทุกกระบวนการ ล้วนมีความเสี่ยงในการสร้างคาร์บอนเครดิต สสว. มีหลายหน่วยงานที่ช่วยประเมินเรื่องคาร์บอนเครดิตให้ โดยเซ็นทรัลแล็บเองจะช่วยดูแลในเรื่องการประเมินที่เกี่ยวเนื่องกับป่าไม้ ผู้ประกอบการสามารถขอคำปรึกษาได้

นับเป็นอีกหนึ่งบริการที่ สสว.มุ่งมั่น สานต่อมาเป็นปีที่ 3 และมีการอัปเกรดอย่างเข้มข้น เพื่อให้ความสนับสนุนผู้ประกอบการ ให้ขับเคลื่อนความสำเร็จของธุรกิจอย่างยั่งยืน

#สสว #SME #BDS #bdsปี3 #ESG #Mreport #ข่าวอุตสาหกรรม
 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH