สอศ.สานต่อโครงการพัฒนาสมรรถนะครูอาชีวะปีที่ 2

สอศ. สานต่อโครงการพัฒนาสมรรถนะครูอาชีวะปีที่ 2

อัปเดตล่าสุด 7 พ.ค. 2567
  • Share :
  • 1,824 Reads   

สอศ.เดินหน้ายกระดับครูด้านเทคโนโลยีการผลิตในอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาสมรรถนะให้แก่ครูผู้ช่วย สาขาช่างกลโรงงาน ช่างเทคนิคอุตสาหกรรม ช่างเทคนิคการผลิต ปีที่ 2

วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดย สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ได้เปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาสมรรถนะครูด้านเทคโนโลยีการผลิตในอุตสาหกรรม 4.0 ปีที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 พฤษภาคมนี้ โดยมี นางธิติมา โรจน์วัชราภิบาล สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดโครงการฯ 

นางธิติมา กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการกำลังคนด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรม 4.0 ที่ต้องใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรสมัยใหม่ในกระบวนการผลิต ซึ่งมีความต้องการกำลังคนที่มีศักยภาพเหมาะสม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นหน่วยงานหลักที่ผลิตกำลังคนป้อนเข้าสู่ระบบงานอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงจำเป็นต้องพัฒนาครูผู้สอนโดยเฉพาะครูที่บรรจุใหม่ เช่น ครูผู้ช่วยในสาขาที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ทักษะและรู้เท่าทันเทคโนโลยีและเครื่องจักรสมัยใหม่ในกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาที่สอน เพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม




นางธิติมา โรจน์วัชราภิบาล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ประธานเปิดโครงการฯ

ทั้งนี้ หลักสูตรการพัฒนาสมรรถนะครูด้านเทคโนโลยีการผลิตในอุตสาหกรรม 4.0 จะช่วยให้ครูที่เข้าร่วมฝึกอบรมได้มีการพัฒนาความรู้และทักษะในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาที่สอน เพื่อเป็นการยกระดับการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีคุณภาพ เพื่อรองรับการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป

นายยงยุทธ ใจซื่อดี ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาวิชาชีพช่างอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมปัจจุบัน ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้บรรจุข้าราชการครูในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม ซึ่งการการพัฒนาสมรรถนะครูให้มีความรู้และ ทักษะที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและ บุคลากรอาชีวศึกษา จึงได้ร่วมกับบริษัท มินเซนแมชีนเนอรี่ จำกัด และสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง กับเทคโนโลยีการผลิตในอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับครูผู้สอนด้านเทคโนโลยีการผลิตในอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ ไปปรับใช้กับผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อไป




นายยงยุทธ ใจซื่อดี ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาวิชาชีพช่างอุตสาหกรรม

โดยโครงการนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-10 พฤษภาคม 2567 ณ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา มีครูเข้ารับการฝึกอบรมจากสถานศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 30 คน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการสนับสนุนความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมอำนวยความสะดวกในการเข้าใช้สถานที่ในการอบรมและชมการสาธิตเทคโนโลยีด้านเครื่องจักรสำหรับการผลิตสมัยใหม่ รวมไปถึงสายการผลิตจริงในโรงงาน ได้แก่ บริษัท มินเซนแมชีนเนอรี่ จำกัด บริษัท โฟร์ดี คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท มาซัค (ประเทศไทย) บริษัท ทังกาลอยด์-เอ็นทีเค คัทติ้ง ทูล (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท แอคเครเทค (ประเทศไทย) บริษัท Haimer Asia Pacific Ltd. บริษัท เอ็ม เอส เอ โซลูชั่น บริษัท เอมูเก้ แฟรงเก้น จำกัด และบริษัท วายเอ็นทู เทค ประเทศไทย จำกัด นอกจากนี้ ยังได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานของ บริษัท ควอลิตี้ เกจ แอนด์ ทูล จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร และบริษัท โอกาโมโต้ จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา




นายก่อเกียรติ ทรัพย์สมพล รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายเครื่องมือกล บริษัท มินเซนแมชีนเนอรี่ จำกัด

นายสันติ พยัคฆ์ขาม ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวเสริมว่า โครงการนี้จัดขึ้นมาเป็นปีที่ 2 สำหรับครูผู้สอนในสาขาช่างกลโรงงานและช่างเทคนิคการผลิต ในสังกัดกรมอาชีวศึกษา เนื่องจากเล็งเห็นว่าครูในสาขาอาชีพดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปรับตัวและพัฒนาสมรรถนะให้ทันต่อเทคโนโลยีที่สถานประกอบการใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อนำไปต่อยอดการพัฒนาการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาให้ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน




นายสันติ พยัคฆ์ขาม ผู้ประสานงานโครงการฯ

​"โครงการนี้ ถือเป็นตัวเชื่อมในการนำเทคโนโลยีที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต 4.0 มาให้กับครูผู้สอนได้เรียนรู้ เพื่อที่จะได้นำความรู้และทักษะที่ได้รับไปปรับใช้ในการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้เข้าใจว่าเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบันมีอะไรบ้าง มีความก้าวหน้าอย่างไร เพื่อที่จะได้ปรับตัวได้อย่างเท่าทัน เพื่อเป็นการเพิ่มต้นทุนความรู้ให้ผู้เรียนมีความพร้อมเมื่อเข้าสู่สนามการทำงานโดยไม่ต้องไปเริ่มต้นศึกษาใหม่ แต่อาจจะแค่ไปเพิ่มทักษะการฝึกจริงๆ เนื่องจากสถานศึกษาทั่วประเทศในปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดในการนำเครื่องจักรที่ทันสมัยไปสู่ระบบการเรียนจริง โครงการนี้จึงทำหน้าที่ส่งผ่านความรู้ให้กับครูผู้สอนไปถึงผู้เรียนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาประเทศ" นายสันติ กล่าว

#โครงการพัฒนาสมรรถนะครูอาชีวะ #เทคโนโลยีการผลิต #Industry4 #ช่างกลโรงงาน #ช่างเทคนิคอุตสาหกรรม #ช่างเทคนิคการผลิต #Mreport #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH