ก.อุตฯ เผยผลิตภาพการผลิตรวมของไทยยังแกร่ง แนะเร่งขับเคลื่อน 5 กลไกสำคัญรองรับการแข่งขันยุคดิจิทัล

ก.อุตฯ เผยผลิตภาพการผลิตรวมของไทยยังแกร่ง แนะเร่งขับเคลื่อน 5 กลไกสำคัญรองรับการแข่งขันยุคดิจิทัล

อัปเดตล่าสุด 31 พ.ค. 2564
  • Share :
  • 607 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยผลการศึกษาผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity: TFP) ในช่วง 3 ปีย้อนหลัง พบมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.45 ต่อปี สะท้อนภาพความแข็งแกร่งภาคอุตสาหกรรมยังไปได้ดี แนะต้องเพิ่มประสิทธิภาพ หรือคุณภาพอย่างต่อเนื่องผ่าน 5 กลไกสำคัญ ได้แก่ ทักษะแรงงาน เครื่องจักรอัตโนมัติ/กึ่งอัตโนมัติ การบริหารจัดการทั้งด้านต้นทุนและการเงิน การยกระดับการผลิตไปสู่รูปแบบการผลิตแบบ ODM และ OBM รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีและวิจัยพัฒนา 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำหนดให้การเพิ่มผลิตภาพของประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561- 2580) ทั้งนี้ สศอ. ได้ทำการศึกษาผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity: TFP) ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นประจำทุกปี จากแบบแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการ ร.ง.9 เพื่อวิเคราะห์ความสามารถในการผลิตและการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยผลการศึกษาพบว่า ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2560 -2563) ประสิทธิภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity: TFP) เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.45 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคอุตสาหกรรมที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.93 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่า ผลิตภาพการผลิตที่มีการเติบโตที่สูงกว่านั้นมีความแข็งแกร่งและเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของการเติบโตในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะปัจจัยเชิงคุณภาพที่เสมือนเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญของภาคการผลิตให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะต้องเผชิญกับสภาวะความผันผวนรุนแรงทางเศรษฐกิจและสังคม การแข่งขันที่สูงมากขึ้นทั้งในเรื่องการส่งออก และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยี รวมทั้งข้อจำกัดด้านแรงงาน

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก โรคระบาด หรือสงครามระหว่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งในด้านประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนรักษาความสามารถในการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ โดยมี 5 กลไกสำคัญ คือ 1. การพัฒนาทักษะแรงงาน 2. การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ/กึ่งอัตโนมัติ 3. การบริหารจัดการด้านต้นทุนและการเงิน 4. การยกระดับการผลิตไปสู่รูปแบบการผลิตแบบรับจ้างออกแบบพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ (ODM) และการออกแบบพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของผู้ประกอบการ (OBM) ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น และ 5. การลงทุนด้านเทคโนโลยีและวิจัยพัฒนาในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การจัดการ และการสร้างนวัตกรรมในสินค้า มีการจดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิบัตรต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้นั้นถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงมากให้กับสินค้าและเศรษฐกิจของประเทศ

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สศอ. ให้ความสำคัญและติดตามผลิตภาพการผลิต (Productivity) อย่างต่อเนื่อง โดยการเผยแพร่สร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการตื่นตัวและเตรียมพร้อมในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอผ่านการดำเนินงานในโครงการสำคัญต่าง ๆ ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงาน สนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและกระบวนการผลิต การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มผลิตภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยปี 2563 ได้ดำเนินงาน อาทิเช่น โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับสถานประกอบการแปรรูปอาหารด้าน IoT Solution System โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรมสาขาอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมกระบวนการผลิตอัจฉริยะสาขาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ  โครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเพื่อรองรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และโครงการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมสู่ความเป็นโรงงานอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 เป็นต้น

นายทองชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาและยกระดับผลิตภาพต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดีประเทศไทยยังมีจุดแข็งในหลายเรื่อง เช่น ความพร้อมด้านการเกษตร และความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานในหลายๆ อุตสาหกรรม ซึ่งต้องช่วยกันรักษาจุดแข็งเหล่านี้ท่ามกลางความท้าทายในระยะยาวที่กำลังเกิดขึ้น โดยการช่วยกันพัฒนา 5 กลไกสำคัญที่ได้กล่าวข้างต้น ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจ แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาส โดยยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่

Facebook / Twitter : MreportTH

Youtube official : MReport

Line : @mreportth

Website : www.mreport.co.th