พิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์คนล่าสุด 2020

เสริมเขี้ยว “สถาบันยานยนต์” “เพิ่มศักยภาพรับอุตฯ ยานยนต์เปลี่ยน”

อัปเดตล่าสุด 31 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 772 Reads   

หลังจากเข้ารับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่แห่งสถาบันยานยนต์ได้เพียงแค่ 6 เดือน ประเทศไทยและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องเผชิญกับวิกฤต “โควิด-19” พอดี

นี่คือคำเปิดฉากบทสัมภาษณ์พิเศษ “พิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล” ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์คนล่าสุดที่เปิดโอกาสให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยถึงแนวคิดนโยบายในการขับเคลื่อนองค์กรหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นอย่างไรไปติดตามกัน

เร่งมือเพิ่มศักยภาพ

บทบาทของสถาบันยานยนต์ตั้งแต่อดีตจนมาถึงในปัจจุบันคือ การเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทดสอบรถยนต์ จักรยานยนต์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ได้ตามมาตรฐาน โดยสถาบันยานยนต์ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และเพิ่มศักยภาพในระดับโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งด้านงานวิจัยการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นงานหลักที่ต้องเร่งมือทำให้เข้มข้นมากขึ้น

อุตฯยานยนต์กำลังเปลี่ยนผ่าน

จะเห็นได้ว่าเทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี ขณะนี้สถาบันยานยนต์และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินหน้าผลักดันศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ตามมาตรฐาน UN R117เพื่อให้บริการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อตามมาตรฐานสากล ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในเฟสแรกช่วงปลายปี 2563 นี้ และสถาบันยานยนต์ยังได้มีการลงทุนสร้างอาคารทดสอบแบตเตอรี่ไฟฟ้ามูลค่า 90 ล้านบาทภายในบริเวณสนามทดสอบยางล้อ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

เสริมเขี้ยวศูนย์ทดสอบฯ

นอกจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติแล้ว หลังจากสถาบันยานยนต์ได้รับการอนุมัติงบประมาณของปี 2562 ในการจัดซื้อเครื่องทดสอบแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 5 เครื่อง มูลค่า 80 ล้านบาท และงบประมาณของปี 2563 อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอีก 4 เครื่อง มูลค่า 139 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับเครื่องมือทดสอบราวกลางปี 2564 ซึ่งจะทำให้สถาบันยานยนต์สามารถทดสอบรถยนต์ จักรยานยนต์ตามมาตรฐานความปลอดภัยของแบตเตอรี่รถยนต์-จักรยานยนต์ไฟฟ้าในไตรมาส 3 หรือ 4 ของปี 2564 อย่างแน่นอน

มั่นใจอุตฯ ยานยนต์จะค่อย ๆ ฟื้น

แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์หลังจากต้องเผชิญกับโควิด-19 แม้จะยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจน แต่หากสถานการณ์สามารถฟื้นตัวได้เร็วคาดว่าจะมีการผลิตอยู่ราว 1.4 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 700,000 คันและผลิตเพื่อส่งออก 700,000 คัน หรือหากสถานการณ์หนักกว่า ยอดผลิตอาจจะลงไปอยู่ที่ 1 ล้านคัน ก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน
โควิดสาหัสกว่าทุกวิกฤต

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ เนื่องจากมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตถึง 19 ราย เป็นรายใหญ่ 7-8 ราย ด้วยศักยภาพการผลิตได้ปีละ 2 ล้านคันถือว่าใหญ่มาก วิกฤตที่ผ่านมาของอุตสาหกรรมยานยนต์จะเกิดขึ้นเฉพาะในบางประเทศหรือภูมิภาค แต่วิกฤตครั้งนี้ต่างกันออกไป ทุกคนประสบเช่นเดียวกันทั่วโลก ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดนิ่งอย่างที่เราเห็น ทั้งคำสั่งซื่้อ การผลิต อารมณ์จับจ่าย โดนเหมือนกันทั้งต้นน้ำไปยังปลายน้ำ

เอ็มโอยูสถาบันข้ามชาติ

สิ่งสำคัญที่สถาบันยานยนต์ยังเดินหน้าอย่างไม่หยุดนิ่งคือ “งานวิจัย” เราไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามผลักดันและพัฒนางานส่วนนี้ อนาคตสถาบันยานยนต์ต้องอาศัยความร่วมมือกับสถาบันข้ามชาติ…ที่เคยเอ็มโอยูระหว่างกัน ซึ่งต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิด เช่น ไต้หวัน ที่มีความก้าวหน้า มีสนามทดสอบ รถออโตอัตโนมัติ ตรงนี้เราก็อยากเดินหน้าสานต่อความร่วมมือ

โหมพัฒนาบุคลากรต่อเนื่อง

เนื่องจากรถยนต์เป็นสินค้าที่ไม่เหมือนกับสินค้าอื่น ๆ สถาบันยานยนต์พยายามเข้าไปให้ความรู้กับผู้ประกอบการชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมด้วยการเปิดฝึกอบรมฟรี ช่วยให้เขาปรับปรุงกระบวนการผลิต เทรนนิ่งออนไลน์ใช้ฟรี และลดค่าใช้จ่ายการอบรมต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการ

สิ่งที่เราเข้าไปช่วยตั้งแต่ 1.การวิเคราะห์กระบวนการผลิต 2.การส่งเสริมให้มีการนำหุ่นยนต์หรือโรบอตแทนคน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการทำงาน หรือโรคระบาด 3.พัฒนาเอสเอ็มอีชิ้นส่วน 1,800 ราย

โดยมีเป้าหมายจะต้องอบรมบุคลากรตรงนี้ให้ได้อย่างน้อย 1,200 คน หรือ 40 โรงงานเป็นอย่างน้อย รวมไปถึงความพยายามในการรวบรวมจัดทำข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแมปปิ้งข้อมูล ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนเพื่อจัดเก็บเป็นบิ๊กดาต้าเพิ่มเสริมสร้างศักยภาพในอนาคต

พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการ

แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะเผชิญปัญหาค่อนข้างหนักหน่วง ภาครัฐเองก็พยายามหาวิธีช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการอย่างเช่น การเลื่อนมาตรการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 และ 6 ออกไปนั้นยังต้องเตรียมการให้ดี

อย่างโครงการอีโคคาร์ก็ต้องยอมรับว่ายังมีค่ายรถยนต์ที่ยังไม่คืนทุน หากบังคับให้ลงทุนใหม่แน่นอนผู้ประกอบการเกิดความลังเล แม้บางค่ายมียูโร 5 แล้วก็ตาม

แต่จากสภาพเศรษฐกิจและมาตรฐานของน้ำมันในปัจจุบัน อาจจะยังต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อม ทั้งรถยนต์และน้ำมันเป็นเรื่องที่ต้องคิด อยู่ที่ผู้มีอำนาจจะตัดสินใจ ค่ายรถบางส่วนอาจจะมีความพร้อมแต่ไม่ใช่รถยนต์ทุกประเภทที่พร้อม หากมีผู้ทำได้รัฐควรให้อินเซนทีฟเพราะสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติยาว

ส่วนสถาบันยานยนต์ยังต้องเดินตามมาตรฐาน สมอ.และได้มีการเตรียมความพร้อมในการทดสอบมาตรฐานต่าง ๆ สถาบันยานยนต์ยินดีให้บริการเพราะเวลาที่เรารู้สึกว่าเวลาผู้ประกอบการมีปัญหาเราก็มีปัญหาด้วยอยากช่วยแบ่งเบา อะไรช่วยได้เรายินดีเข้าไปช่วยเหลือ และนี้คือคำยืนยันถึงทิศทางการดำเนินงานของสถาบันยานยนต์

 

อ่านต่อ:
สถาบันยานยนต์ ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ฯ นำร่อง 9 รายการ มาตรฐาน UNECE R 100