มาตรการปกป้องการนำเข้ารถยนต์ของ "ฟิลิปปินส์" ตลาดส่งออกท็อปทรีของไทย

ตามติด! มาตรการปกป้องการนำเข้ารถยนต์ของ "ฟิลิปปินส์" ตลาดส่งออกท็อปทรีของไทย

อัปเดตล่าสุด 28 ม.ค. 2564
  • Share :
  • 685 Reads   

♦ 'ฟิลิปปินส์' ตลาดส่งออกรถยนต์ท็อปทรีของไทยทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะ 

♦ รัฐบาลออกมาตรการ Safeguard ปกป้องการนำเข้ารถยนต์ ลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ หวังดึงลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานการผลิต

มาตรการ Safeguard กำหนดอากรชั่วคราวสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถกระบะมูลค่า 1,500 และ 2,300 เหรียญสหรัฐต่อคัน​ และอาจมีการบังคับใช้มาตรการอื่นเพิ่มเติม

 

เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ (DTI) เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ Philippine News Agency ภายใต้การดูแลของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในเรื่องการให้ความคุ้มครองชั่วคราวสำหรับการนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ หลังจากการไต่สวนเบื้องต้นพบว่า มีการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศในปริมาณมากเกินไปจนทำให้ตลาดในประเทศเกิดความเสียหาย

"มาตรการปกป้องการนำเข้ารถยนต์ของฟิลิปปินส์" กำหนดอากรป้องกันชั่วคราวสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถกระบะ มูลค่า 1,500 และ 2,300 เหรียญสหรัฐต่อคัน มีผลตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2564 หลังจากนั้น อาจมีการบังคับใช้มาตรการอื่นเพิ่มเติม

 

Ramon Lopez เลขาธิการกรมการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ แสดงความเห็นว่า “มาตรการปกป้องการนำเข้ารถยนต์จะช่วยให้อุตสาหกรรมในประเทศสามารถเผชิญกับสภาพการแข่งขันที่เกิดจากการนำเข้ารถยนต์ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ไม่ได้เป็นการแบนการนำเข้า เพียงแต่รถยนต์ที่นำเข้ามาจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม และผู้บริโภคยังมีทางเลือกในการซื้อรถยนต์"

ในช่วงปี 2557-2561 ฟิลิปปินส์มีการนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 35% และเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ผลิตในประเทศพบว่าปริมาณการนำเข้ามากกว่าปริมาณการผลิตในประเทศจาก 295% ในปี 2557 เป็น 349% ในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะที่การนำเข้ารถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดเล็ก ซึ่งรวมถึงรถกระบะมีปริมาณการนำเข้ามากกว่าปริมาณการผลิตในประเทศจาก 645% เป็น 1,364% ในช่วงเวลาเดียวกัน

โดยปัจจุบัน ฟิลิปปินส์นำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลด้วยสัดส่วนมากกว่า 70% และอีก 20 - 25% เป็นรถที่ผลิตในประเทศ

Ramon Lopez  เสริมว่า “มาตรการปกป้องการนำเข้ารถยนต์ถูกประกาศใช้เพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ และป้องกันการไหลออกของธุรกิจสู่ต่างชาติ ยกตัวอย่างเช่นการหยุดผลิต Isuzu D-Max ในเดือนกรกฎาคม 2562 และการปิดโรงงานประกอบยานยนต์ของ Honda Motors Philippines ในไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานและเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ และมาตรการนี้อาจนำไปสู่การดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ให้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศ และการสร้างตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย”

ในอีกด้านของไทยซึ่งมีการส่งออกทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถกระบะไปยังฟิลิปปินส์มากเป็นอันดับ 3 และอันดับ 2 ก็ต้องเผชิญกับมาตรการ Safeguard ปกป้องการนำเข้ารถยนต์ของฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้ราคารถยนต์ที่นำเข้ามาจำหน่ายในฟิลิปปินส์มีราคาแพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน เรายังต้องติดตามการออกนโยบายและมาตรการของรัฐบาลฟิลิปปินส์ต่อไป และพลาดไม่ได้ที่จะต้องจับตาดูสิ่งที่รัฐบาลฟิลิปปินส์คาดหวังเพื่อดึงการลงทุนของกลุ่มยานยนต์จะมีเข้ามาเพิ่มเติมได้หรือไม่