ส.อ.ท. - กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรมไทย

ส.อ.ท. - กระทรวงพาณิชย์ ชี้อุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัวในสมรภูมิการค้าปีหน้า

อัปเดตล่าสุด 30 พ.ย. 2566
  • Share :
  • 483 Reads   

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ ร่วมปลุกพลังในงาน FTI Executive Thank You Dinner ชี้อุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัวในสมรภูมิการค้าปีหน้า มีผู้บริหารระดับสูงของ ส.อ.ท. ตัวแทนภาครัฐ และบริษัทชั้นนำระดับประเทศ เข้าร่วมงานกว่า 100 ราย

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงาน FTI Executive Thank You Dinner สร้างเครือข่ายระหว่างผู้บริหารระดับสูงของ ส.อ.ท. กับสมาชิกรายใหญ่จำนวน 42 บริษัท และเป็นการขอบคุณสมาชิกที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มั่นคง นำไปสู่ความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรมร่วมกัน ภายในงานได้รับเกียรติจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ ส.อ.ท. ตัวแทนภาครัฐ และบริษัทชั้นนำระดับประเทศ เข้าร่วมงานกว่า 100 ราย ณ บ้านเกษะโกมล

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ “2024 สมรภูมิการค้า ที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัว” ว่าทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว อยู่เฉยไม่ได้ ยิ่งทำธุรกิจต้องตามโลกให้ทันปี 2024 สมรภูมิการค้าที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัว และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เดินทางไปร่วมงาน CIIE ที่เซี่ยงไฮ้ นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนกล่าวในพิธีเปิดว่าจีนจะไม่เป็นโรงงานของโลกอีกต่อไป แต่จะเป็นตลาดของโลก ซึ่งเป็นช่องทางที่เราจะเปิดตลาดได้ เพราะจีนมีมณฑลจำนวนมาก แต่ละมณฑลมีประชากรเป็น 100 ล้านคน กระทรวงพาณิชย์ใช้วิธีการค้าเชิงรุกเร่งสร้างสัมพันธ์กับมณฑลเพื่อเปิดตลาด เปิดพื้นที่ให้เอกชนได้คุยธุรกิจร่วมกันโดยรัฐบาลจะสนับสนุน

นอกจากนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินได้เดินทางไปต่างประเทศดึงจากภาคเอกชนใหญ่อาทิ ไมโครซอฟท์ กูเกิล มาลงทุนในประเทศไทย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งช่วยเร่งให้ประเทศมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ หลังจากหยุดนิ่งมานาน 

นายภูมิธรรมยังกล่าวต่อไปว่ากติกาการค้าของโลกเปลี่ยนไป ปีหน้าจะมีหลายเรื่องถูกบังคับใช้ เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน การสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าที่เป็นธรรม ยั่งยืน ดังนั้นอุตสาหกรรมของเราไม่ปรับตัวก็จะลำบาก นอกจากนี้การกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานก็สำคัญ ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 และสงครามใหม่ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอาทิ รัสเซีย-ยูเครน และอามาส-อิสราเอล ทำให้เรียนรู้ว่าภาคอุตสาหกรรมต้องมีแหล่งวัตถุดิบและแหล่งผลิตที่หลากหลาย ไม่ผูกติดรวมอยู่ที่เดียว  

กระทรวงพาณิชย์พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ โดยแบ่งภารกิจ 3 ด้าน ได้แก่

1. การพัฒนาผู้ประกอบการ ส่งเสริมซอฟพาวเวอร์ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการค้าในยุคดิจิทัล ในฐานะที่เราเป็นรัฐที่ส่งเสริม ไม่ใช่รัฐอุปสรรค ในกระทรวงพาณิชย์พบว่ามีกฎระเบียบข้อบังคับมากมายที่ควรปรับเปลี่ยน นโยบาย Quick Win  99 วัน เราจะปรับปรุงกฎหมายเร่งด่วน พระราชบัญญัติอย่างน้อย 4 ฉบับ ได้แก่ พรบ.ลิขสิทธิ์ พรบ.GI พรบ.สภาผู้ส่งทางเรือแห่งประเทศไทยและพรบ.นำเข้าส่งออก และกฎระเบียบราชการอีกหลายเรื่อง
2. การปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด ให้ง่ายต่อการเข้าถึงและมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน 
3. การส่งเสริมการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยตามกติกาการค้าใหม่ของโลก ส่งเสริมความร่วมมือเพราะระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงจะต้องปรับให้สอดรับกับโลก

นายภูมิธรรมกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ดำเนินเป้าหมายยุทธศาสตร์ 10 ประเทศ คือ ตลาดเดิมที่ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส กลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ ได้แก่ อินเดีย เกาหลีใต้ และกลุ่มประเทศตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบียและแอฟริกาใต้

ท่านนายกฯ ทำ “ทีมไทยแลนด์” เชิญเอกอัครราชทูตจากทั่วโลก และกระทรวงพาณิชย์ก็เชิญทูตพาณิชย์จากทั่วโลก เจ้าหน้าที่สำนักงานบีโอไอทั่วโลก มาสัมมนาร่วมกันที่กระทรวงการต่างประเทศ  ประสานภาคเอกชน สร้างทีมไทยแลนด์ ทำงานร่วมกัน โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้เชิญพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเข้ามาร่วมด้วย เพื่อสร้างทีมพาณิชย์ ในการข่วยสนับสนุนทีมไทยแลนด์  โดยหากเราจะประสบความสำเร็จ ต้องยึดหลัก 3 c คือ 1. Customer-centric กลุ่มผู้บริโภคให้รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร จะผลิต และตอบสนองความต้องการอย่างไร 2.Connectivity มีแนวร่วมเป็นเครือข่ายกับภาครัฐ ภาคธุรกิจและแหล่งผลิตช่วยกัน และ 3.Can do ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ อะไรที่ทำไม่ได้อย่าบอกว่าทำไม่ได้ ให้ไปหาทางออกมาแก้ “ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จและในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่” นายภูมิธรรม กล่าวส่งท้าย

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าความท้าทายของเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากวิกฤตรอบด้าน (Polycrisis) ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี (Trade War & Tech War) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Recession) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมาภาคธุรกิจพยายามปรับตัวเพื่อก้าวข้ามความท้าทายด้วยการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มุ่งเน้นที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยมีการแบ่งอุตสาหกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 First Industries คือ อุตสาหกรรมเดิมที่ประกอบด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Disruption Technology) ทำให้ต้องเร่งปรับตัวให้สามารถรักษาศักยภาพของอุตสาหกรรมไว้ได้ และกลุ่มที่ 2 Next-GEN Industries อุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (High Technology) เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมดิจิทัล 2) การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วย BCG Model ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มีการใช้เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) และเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) ในระบบการผลิตและ 3) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์ของโลกที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย และกรอบการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย

สำหรับภารกิจสำคัญของ ส.อ.ท. เราจะยังคงผลักดันการดำเนินงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องในปี 2567 อาทิ 1. งาน Foreign Industrial Club (FIC) เวทีในการหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และบริษัทต่างชาติ 2. โครงการอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะต้นแบบ SAI in Bangkok ต่อยอดสร้างเกษตรมูลค่าสูงตามความต้องการของตลาด 3. โครงการกองทุนอินโนเวชั่นวัน ซึ่งได้รับงบสนับสนุน 1,000 ล้านบาท จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพมายกระดับภาคอุตสาหกรรม 4. การรับรองสินค้าที่ผลิตในไทย Made in Thailand (MiT) ที่สร้างโอกาสสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยปัจจุบันมีการซื้อสินค้า MiT แล้วกว่า 1 แสนล้านบาท 5. ตลาดออนไลน์สินค้าทุกอุตสาหกรรม FTIebusiness.com ตลาดแบบ B2B ที่รวบรวมสินค้าราคาโรงงานกว่า 5,500 ร้านค้า สร้างยอดเสนอราคากว่า 2,000 ล้านบาท 6. การเปิดแพลตฟอร์ม FTIX ซื้อขายคาร์บอนเครดิตแห่งแรกในเอเปค และส่งเสริมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ธุรกิจปังอย่างยั่งยืน (EPR in Action) 7. สถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน (TCEII) เพื่อส่งเสริมขยายตลาดการค้าระหว่างไทยกับจีน และดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุนไทยในซาอุดิอาระเบีย 8.งานความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของภาคธุรกิจ (Skill Mapping) และ 9. งาน FTI Executive Thank You Dinner ในวันนี้ที่ได้รวม 42 บริษัทสมาชิกรายใหญ่ มาสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ภาพอันดีระหว่างผู้บริหาร ส.อ.ท. กับสมาชิกรายใหญ่ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “ONE FTI” ของ ส.อ.ท.“ขอขอบคุณสมาชิกทุกบริษัท ที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของ ส.อ.ท. มาโดยตลอด เราจะร่วมกันขับเคลื่อน ONE FTI สู่ ONE THAILAND ด้วยกันครับ” นายเกรียงไกร กล่าวเสริม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH