BTS 2020 ลุยปิดดีล “มอเตอร์เวย์-สัมปทานสายสีเขียว” ชิงเค้กรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้าน

BTS ลุยปิดดีล “มอเตอร์เวย์-สัมปทานสายสีเขียว” ชิงเค้กรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้าน

อัปเดตล่าสุด 22 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 673 Reads   

BTS ลุยปิดดีล “มอเตอร์เวย์” และ “สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ชิงเค้กรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้านบาท

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) กล่าวชี้แจงผลการดำเนินงานของบริษัทในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2563 โดยระบุว่าผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา (เม.ย.62-มี.ค.63) ถือว่าเป็นปีที่ดีมากของบริษัทมีกำไรสุทธิ 8,161.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 184.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีรายได้รวม 42,203 ล้านบาท ธุรกิจระบบขนส่งมวลชนยังเป็นรายได้หลัก80% สื่อโฆษณา 15% บริการ 4%และอสังหาริมทรัพย์ 1%

“แต่ปีนี้เป็นปีพิเศษมีการระบาดของโควิด-19 กระทบต่อธุรกิจในเครือ ทั้งรถไฟฟ้าที่ความต้องการเดินทางลดลงในช่วงม.ค.-มี.ค.ผู้โดยสารลดลงไป17.5% ตอนนี้เริ่มกลับมาเกือบเป็นปกติแล้วเช่นเดียวกับสื่อโฆษณา ส่วนอสังหาฯที่ลงทุนผ่านยูซิตี้ที่ที่ผ่านพลิกมีกำไร 1,800 ล้านบาท แต่ปีนี้จากโควิดกระทบแน่นอน เพราะมีธุรกิจโรงแรมอยู่ที่ต่างประเทศ”

นายคีรีกล่าวอีกว่า จากกรณีโควิด บริษัทต้องกลับมามองว่าจะต้องปรับเปลี่ยนหรือมีโอกาสยังไงกับภาวะแบบนี้ และหลังจากโควิดคลี่คลายแล้ว ปัจจุบันยังมีโครงการในมือที่ต้องดำเนินการ เช่น ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรงและสีชมพูแคราย-มีนบุรี ถึงขณะนี้ยังคงแผนเดิมจะสร้างเสร็จเปิดใช้ในเดือนต.ค.2564 แม้รัฐจะส่งมอบพื้นที่ให้ล่าช้า

ยังมีสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งโครงการรวม 66 กม. ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งบริษัทรับภาระหนี้แทนกรุงเทพมหานคร(กทม.) ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยกทม.มีเงื่อนไขให้เก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากปัจจุบันบีทีเอสมีสัมปทานเดินรถสายสีเขียวอยู่แล้ว 23.5 กม. ยังเหลืออายุสัมปทาน 8 ปี และรับจ้างเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวให้กทม.ระยะยาว 30 ปี ซึ่งรัฐจะรวมทั้งสัมปทานเก่าและใหม่เป็นสัมปทานเดียวกัน

“แต่เราไม่ได้รีบ หากยังไม่อนุมัติในเร็ว ๆ นี้ เพราะมีรายได้จากค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายอยู่แล้วปีละ 5,000 ล้านบาท แต่ถ้ารัฐอนุมัติมีการเซ็นสัญญา จะทำให้เราได้เดินรถสายสีเขียว 38 ปี นับจากวันสิ้นสุดสัปมทานเดิม“

โครงการระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมาและบางใหญ่-กาญจนบุรี เป็น ppp gross cost ระยะเวลา 30 ปี รออนุมัติจากครม.คาดว่าจะได้เซ็นสัญญาในเร็ว ๆ นี้ และงานใหญ่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกที่เพิ่งเซ็นสัญญาไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา

“อู่ตะเภาเราร่วมทุนกับบางกอกแอร์เวย์ส และซิโน-ไทย ความจริงเราไม่คิดจะเข้าประมูลเพราะไม่มีความรู้ แต่บากกอกแอร์เวย์สเป็นบริษัทเดียวที่ทำธุรกิจสนามบินและสายการบิน แต่เขาไม่เคยทำโครงการขนาดใหญ่เลยมาชวนเรา ก็ช่วยกันคิด จนได้ข้อสรุปอย่างที่เห็น”

“และขอให้เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นธุรกิจมีกำไร มีเมืองการบิน มีฟรีเทรดโซน เราถึงให้ผลตอบแทนได้สูง 3 แสนล้านบาท ลงทุนเฟสแรกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท กำลังเจรจากับกองทัพเรือจะขอนำอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มาบริหารจัดการก่อนเพื่อเป็นรายได้ ระหว่างรอการส่งมอบพื้นที่อีก 1 ปีครึ่งนับจากวันเซ็นสัญญา ”

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเฟสแรกสถานีกรุงธนบุรี-คลองสาน ที่บีทีเอสได้สัมปทานงานระบบและเดินรถจากกทม. กำลังก่อสร้างและทดสอบรถขบวนแรก จะเปิดบริการในเดือน ต.ค. 2563 นี้

“ถ้าไม่มีโควิด ปีนี้จะเป็นปีที่ดีของเรา แต่เราก็พร้อมเดินหน้าเต็มที่ในทุกโปรเจ็กต์ทั้งที่อยู่ในมือและจะประมูลในอนาคต และเชื่อมั่นว่าอนาคตของกลุ่มบริษัทจะได้รับประโยชน์จากการมีพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากสัญญาสัมปทานในโครงการต่างๆในระยะยาว”

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า รายได้ของธุรกิจระบบขนส่งมวลชนอยู่ที่ 32,076 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากค่างานก่อสร้างสายสีชมพูและสีเหลือง ขณะที่รายได้ค่าโดยสารลดลง 2.1% จากผลกระทบโควิด

“ปีนี้รอเซ็นสัญญา 2 โครงการ คือ งานระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ 2 สาย หลังเซ็นสัญญาคาดว่าจะเริ่มงานสายบางปะอิน-โคราชก่อนปลายปีนี้ อีกโครงการสัญญาสัมปทานสายสีเขียว”

สำหรับงานใหม่ในอนาคต จะร่วมกับพันธมิตร เช่น บมจ.ซิโน-ไทยฯ และอาจจะมีบมจ.ราชกรุ๊ป เข้าร่วมประมูลสายสีส้มมูลค่า 1.4 แสนล้านบาทจะยื่นซองประมูลวันที่ 23 ก.ย.นี้

“สายสีส้มเราให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ติดตามมาตลอด ศึกษาข้อมูลมาอย่างดี จะเป็นอีกโครงการที่จะคาดว่าจะได้รับการคัดเลือก เราไปซื้อซองตั้งแต่วันแรก เพราะจะเป็นเส้นทางมาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลายสาย ทั้งสีเขียว สีน้ำเงิน สีชมพู สีเหลือง”

นอกจากนี้ยังมีอีก 3 โครงการเป็นรถไฟฟ้ารางเบาของกทม. มีสายสีเทาวัชพล-ทองหล่อ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท สายบางนา-สุวรรณภูมิ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน วงเงินกว่า 1 หมื่นล้าน จะไปเชื่อมสายสีแดงและสีส้มที่ตลิ่งชัน และยังสนใจรถไฟฟ้าสายสีแดงที่รัฐจะเปิดPPP Net costและมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ จะเขื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรีด้วย

นายสุรยุทธ ทวีกูลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินบมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีหนี้รวมรวม 105,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,676 ล้านบาท จากเงินกู้ยืมระยะยาวในการลงทุนสายสีชมพูและสีเหลือง ส่วนกระแสเงินสดบริษัทอยู่ที่ 17,700 ล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน 1.05 เท่า
 

อ่านต่อ: