แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์, งานวิจัย ม.ขอนแก่น, รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจําปี 2566, อุตสาหกรรมแบตเตอรี่, แบตเตอรี่, แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

สุดปัง! วิจัย มข. “แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากแกลบ-ขยะโซลาร์เซลล์” คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566

อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 2566
  • Share :
  • 21,902 Reads   

“แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากแกลบ-ขยะโซลาร์เซลล์” ผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นคว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2566 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 - รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ประธานหลักสูตร กล่าวถึงผลงานว่า “แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนจากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์” เป็นการนำแกลบและขยะโซลาร์เซลล์มาผลิตเป็นวัสดุที่ชื่อว่า วัสดุนาโนซิลิกอน ซึ่งสามารถใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนได้ รวมถึงแบตเตอรี่ชนิดอื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ โดยเซลล์แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนที่ผลิตได้มีความจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 15% ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้มีระยะการขับเคลื่อนได้ไกลขึ้น มีความปลอดภัยสูงขึ้น และรองรับการชาร์จเร็วกว่าเดิม 4 เท่า ส่งผลให้เกิดการนำเอาสิ่งของที่มีอยู่ภายในประเทศมาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน

นอกจากนี้ ยังช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สมัยใหม่ได้อย่างครบวงจร ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแกลบและขยะโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นของที่มีมูลค่าต่ำให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยที่มูลค่าเหล่านั้นจะต้องสามารถสร้างประโยชน์และสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวนา จากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ รวมถึงสามารถลดการทำเหมืองในรูปแบบเดิม ลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และหยุดการฝังกลบแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะนำไปสู่การรีไซเคิลขยะโซลาร์เซลล์ที่เหมาะสม และสามารถใช้พลังงานสะอาดได้อย่างยั่งยืน

สำหรับพิธีมอบรางวัลในงาน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566” จัดขึ้นเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่คนไทยที่ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นนวัตกรรมที่โดดเด่น และเกิดคุณค่าที่ชัดเจนต่อประเทศชาติในหลากหลายด้าน หรือหน่วยงานองค์กรที่มีการบริหารจัดการโดยใช้ความรู้ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการสร้างคุณค่าทั้งในเชิงพาณิชย์และเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ หรือกระบวนการ ไปจนถึงระดับโครงสร้าง ส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวด้านนวัตกรรมขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมไทย สร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพนวัตกรรมจากฝีมือคนไทย และสร้างให้เกิดภาพลักษณ์สู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH