กนอ. ผนึก ส.อ.ท. ยกระดับโรงงานในนิคมฯ เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

กนอ. ผนึก ส.อ.ท. ยกระดับโรงงานในนิคมฯ เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

อัปเดตล่าสุด 16 ธ.ค. 2563
  • Share :
  • 497 Reads   

เมื่อวันพุธที่ 16 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ดันขับเคลื่อนนิคมฯ ด้วยแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นสร้างสมดุลเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแผนยุทธศาตร์ กนอ. สอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยว่า กนอ.ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ส.อ.ท.เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) และพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่ง กนอ.และส.อ.ท.ได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และร่วมเป็นหน่วยงานที่จัดทำระบบและให้การรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ร่วมกันดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยในระยะเวลาความร่วมมือที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันเป็นอย่างดี อาทิ การปรับปรุงและพัฒนาข้อกำหนดมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อให้สอดคล้องมาตรฐานสากล และนำไปประยุกต์ใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท และทุกขนาดอุตสาหกรรม การจัดงานสัมมนาวิชาการ Eco Innovation Forum ร่วมกัน และการส่งเสริมให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมได้รับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งในปีนี้ (2563) กนอ.ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและชุมชน จึงได้ขยายกรอบความร่วมมือและประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการสนับสนุนส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ผ่านการสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์และพัฒนาสิทธิประโยชน์และมาตรการจูงใจ สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) และเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ของ กนอ.เพื่อดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อสร้างสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตควบคู่กับเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมได้รับใบรับรองการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแล้ว จำนวน 172 โรงงาน โดยกระจายอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 23 แห่ง ซึ่งการส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสนับสนุนการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ.รวมถึงการยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ลดการเกิดของเสียและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม”นางสาวสมจิณณ์ พิลึก กล่าว

ด้านนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวว่า ส.อ.ท. มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริการ (Service Organization) ทั้ง 6 ด้าน เพื่อประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลก โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการผลิต การบริโภคสินค้าและบริการ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของรัฐบาล ด้วยการส่งเสริมปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ที่นำไปสู่การพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดย ส.อ.ท. ได้ร่วมมือกับ กนอ.ในการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และร่วมเป็นหน่วยงานจัดทำระบบและรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปี 2563 ยังคงมีความร่วมมือส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ทั้งการส่งเสริมโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมให้ได้การรับรองการเป็น Eco Factory สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ของ กนอ. ที่สำคัญสามารถสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ และพัฒนาสิทธิประโยชน์ รวมทั้งมาตรการ  จูงใจสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) และเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ.

ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เน้นสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนท้องถิ่น โดย กนอ.ได้กำหนดคุณลักษณะมาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไว้ใน 5 มิติ 22 ด้าน แบ่งการยกระดับความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับ Eco-World Class / Eco-Excellence และ Eco-Champion ตามลำดับ

 

อ่านต่อ: