อุตฯ ยัน ปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ติงประเทศเพื่อนบ้านยึดหลักสากล

อุตฯ ยัน ปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เตรียมร้องเวทีการค้าโลก ติง ป.เพื่อนบ้านยึดหลักสากล

อัปเดตล่าสุด 11 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 558 Reads   

สมอ. ในฐานะหน่วยงานมาตรฐานแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Committee on TBT) ภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เตรียมร้องในการประชุมครั้งที่ 85 ขอ 'เวียดนาม' ทบทวนการรับรองมาตรฐาน Euro 5 ของผู้นำเข้ารถยนต์

วันที่ 10 มิถุนายน 2564 นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญของโลก รวมทั้งส่งเสริมให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการตรวจสอบรับรองที่มีความพร้อม เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยก็ยังประสบปัญหาด้านการส่งออกไปยังประเทศอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดประเทศเวียดนามได้ประกาศใช้มาตรฐาน Euro 5 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยานยนต์ของไทย โดยประเทศเวียดนามได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการรถยนต์ที่ผลิตและประกอบในประเทศ และได้รับใบอนุญาตก่อนวันที่มาตรฐาน Euro 5 จะมีผลบังคับใช้ สามารถผลิตรถยนต์ตามมาตรฐานเดิม (Euro 4) ได้ต่อเนื่องจนกระทั่งใบอนุญาตดังกล่าวหมดอายุ แต่หากเป็นผู้นำเข้าจะต้องขออนุญาตตามมาตรฐานใหม่คือ Euro 5  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงแม้ว่าใบอนุญาตจะยังไม่หมดอายุก็ตาม 

สมอ. ในฐานะหน่วยงานมาตรฐานแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Committee on TBT) ภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เห็นว่า การปฏิบัติดังกล่าวกับผู้ประกอบการรถยนต์ที่ผลิตในประเทศและผู้นำเข้าไม่เท่าเทียมกัน จึงเตรียมเสนอข้อเรียกร้องให้ทบทวนปรับปรุงกฎระเบียบหรือดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติของ WTO และเตรียมหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นเป็นข้อกังวลทางการค้าเสนอในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าครั้งที่ 85 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2564 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อไป

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ ประเทศอินเดียยังได้ออกประกาศกฎระเบียบควบคุมคุณภาพสินค้าเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมีที่จะนำเข้าสู่อินเดีย โดยจะต้องได้รับการรับรองคุณภาพสินค้า และได้รับใบอนุญาตจากสถาบันมาตรฐานอินเดีย และผู้ประกอบการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย  สมอ. จึงได้แจ้งไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี  กลุ่ม responsible care สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาผลกระทบ ประเด็นปัญหา และข้อเรียกร้องต่อกฎระเบียบของอินเดีย เพื่อเสนอเป็นข้อกังวลทางการค้าในการประชุม Committee on TBT ครั้งที่ 85 ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สมอ.ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในเวทีการค้าโลก ยืนยันจะดูแลและปกป้องภาคอุตสาหกรรมในประเทศ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ” นายวันชัยฯ กล่าวทิ้งท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH