5 ส.ยื่นห้าหมื่นชื่อค้าน กม.AC ต้านสวมสิทธิ์ไม่จำเป็น-คต.เดินหน้าต่อ

5 ส.ยื่นห้าหมื่นชื่อค้าน กม.AC ต้านสวมสิทธิ์ไม่จำเป็น-คต.เดินหน้าต่อ

อัปเดตล่าสุด 27 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 356 Reads   

สมาคมเหล็กลวด ผนึกพันธมิตร 4 สมาคม ล่า 50,000 รายชื่อคัดค้านร่างกฎหมาย-อนุบัญญัติ “anticircumvention” ป้องกันการหลบเลี่ยงมาตรการ ภายใต้ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ชี้ไม่จำเป็นต้องมี แถมสร้างต้นทุนให้ผู้ประกอบการ “พาณิชย์” แจงดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนประกาศใช้ปลายปีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) อนุบัญญัติตามพ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 เพื่อป้องกันการสวมสิทธิแหล่งกำเนิดสินค้า หรือ anticircumvention (AC) โดยเชิญชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลและความคิดเห็นในร่างดังกล่าวนี้

สำหรับรายละเอียดของร่าง เช่น การประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การขอรายละเอียดที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นฐานในการกำหนดมาตรการชั่วคราว การกำหนดอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนการขยายการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน และการทบทวนอากรและการคืนอากร พ.ศ. … การประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน พ.ศ. …

ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การยื่นคำขอให้พิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน ตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้ ทบทวนมาตรการ และขอคืนอากร พ.ศ. … ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดรายการของประกาศไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน พ.ศ. … ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำขอให้พิจารณาทบทวนเพื่อเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนต่อไป พ.ศ. … เป็นต้น โดยมีการเปิดรับฟังความเห็นทางช่องทางปกติและผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย

นายเบญจพงษ์ โล่ห์ชิตกุล นายกสมาคมเหล็กลวด เปิดเผยว่า ทางสมาคมร่วมกับพันธมิตรอีก 4 สมาคม คือ สมาคมเหล็กลวด สมาคมผู้ผลิตเหล็กแรงดันสูง สมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย พร้อมรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการที่ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมายดังกล่าวขึ้นมา

เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (antidumping : AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (countervailing duty : CVD) อยู่แล้ว ทั้งยังจะเป็นการสร้างภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการมากกว่า และจากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในหลายกรณีของร่างกฎหมายก็ยังไม่มีความชัดเจน

“ไทยมีมาตรการเอดี ซีวีดีอยู่แล้วไม่เห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องมีมาตรการเอซีมาเพิ่ม และยังเห็นว่ามาตรการดังกล่าวเพิ่มภาระต้นทุนให้กับเอกชน เพราะหากมีการนำเข้าเหล็กเข้ามา แต่เข้าข่ายสงสัยต้องถูกตรวจสอบซึ่งใช้เวลานานทำให้การผลิตล่าสุดส่งผลต่อต้นทุนเพิ่มหรือผลิตสินค้าไม่ได้ และปัจจุบันไทยยังไม่มีกรณีร้องเรียนเรื่องเอซีเพื่อเป็นตัวอย่าง จึงมองว่ายังไม่เห็นความจำเป็น และเมื่อสอบถามมาตรการเอซีในต่างประเทศ มีเพียงประเทศยุโรปที่มีกฎหมายนี้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ลงรายละเอียดและทำความเข้าใจวิธีการ ประเทศที่ใช้ความจำเป็นของกฎหมาย”

นอกจากการรวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านแล้ว จะเร่งหาข้อมูลต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาภาระต้นทุนที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งผลดี ผลเสียจากกฎหมายดังกล่าว เพื่อชี้แจงต่อสาธารณชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องถึงกฎหมายดังกล่าวต่อไป

นายพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย กล่าวว่า ทางสมาคมไม่เห็นด้วยกับมาตรการหรือกฎหมายเอซีที่กำลังจะประกาศใช้ เพราะเห็นว่ารายละเอียดบางเงื่อนไขเป็นการสร้างข้อจำกัดให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ เช่น เรื่องของการเจือสารโบรอน ซึ่งกำหนดมาตรการลงให้แคบเกินไป บางวิธีการเป็นการสร้างต้นทุนให้เอกชน จึงไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ อย่างไรก็ดี สมาคมจะพยายามรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องว่ากฎหมายที่ร่างขึ้นเป็นการสร้างต้นทุนให้เอกชน

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศจัดทำ (ร่าง) อนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ขึ้นคาดว่าจะสามารถเปิดการรับเรื่องร้องเรียนได้ในปลายปี 2563 นี้ ทั้งกระบวนการร้องเรียน การไต่สวน AC จะเหมือนกันกับกระบวนการ AD/CVD กล่าวคือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือได้รับผลกระทบ สามารถยื่นรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาเปิดไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริง เพื่อปกป้องรักษาอุตสาหกรรมภายในประเทศและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

“การเดินหน้ากฎหมายดังกล่าวนั้นเพื่อประโยชน์อุตสาหกรรม ป้องกันการหลบเลี่ยงการทุ่มตลาดและการแสดงหลักฐานที่เชื่อได้ว่าจะสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ หรืออุตสาหกรรมภายในประเทศ แต่จะพิจารณาว่าผู้นั้นกระทำผิดก็ต้องพิจารณาตามข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มีการหลบเลี่ยงภาษี พิกัด และสร้างความเสียหายหรือไม่”