ไปรษณีย์ไทย-มิตซูบิชิ มอเตอร์ฯ-โออาร์ ร่วมศึกษาการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ BEV สำหรับขนส่ง

ไปรษณีย์ไทย-มิตซูบิชิ มอเตอร์ฯ-โออาร์ นำร่อง "ใช้รถยนต์ไฟฟ้า BEV ในธุรกิจขนส่งไปรษณีย์และพัสดุ"

อัปเดตล่าสุด 8 มี.ค. 2565
  • Share :
  • 1,220 Reads   

“ไปรษณีย์ไทย-มิตซูบิชิ มอเตอร์ฯ-โออาร์” ร่วมศึกษาการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles : BEV) ในภาคธุรกิจขนส่งไปรษณีย์และพัสดุ เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลาย และลดการปล่อยก๊าซ CO2

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ประกาศความร่วมมือกับบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ นำร่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles หรือ BEV) เพื่อการพาณิชย์ด้วยรถมิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ สำหรับใช้ในการดำเนินธุรกิจการขนส่งไปรษณีย์และพัสดุ เพื่อศึกษาโอกาสความเป็นไปได้ที่จะขยายการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย อีกทั้งยังมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทต่าง ๆ ในทุกภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่ระดับการปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทเหล่านี้ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และส่งเสริมระเบียบการการจัดส่งสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

นายกำพุธ อยู่คง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานระบบไปรษณีย์ และปฏิบัติการนครหลวง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท)  กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการบริการจัดส่งพัสดุให้กับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญในปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เนื่องจากที่ทำการไปรษณีย์หลักสี่ ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์ราชการ ซึ่งมีการจราจรหนาแน่นเกือบตลอดเวลา เราจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว ในขณะที่ที่ทำการไปรษณีย์คลองหลวง ซึ่งตั้งอยู่นอกเขตเมืองหลวง ครอบคลุมพื้นที่บริการจัดส่งขนาดใหญ่ และตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราจึงสามารถแสดงความเป็นผู้นำด้านการบริการของเราให้แก่คนรุ่นใหม่ได้เห็นด้วยการนำรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง มิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ มาใช้ในบริการจัดส่งไปรษณีย์และพัสดุ ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะสามารถช่วยประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไปพร้อมกัน

มร. เออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ผมขอขอบคุณ ไปรษณีย์ไทย และ โออาร์  สำหรับความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ เพื่อการสำรวจศักยภาพการใช้งานเชิงพาณิชย์ของยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้า โครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของวาระการส่งเสริมยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้าของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เรากำลังเดินหน้าพัฒนาตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประโยชน์และความสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นความต้องการในหมู่ผู้บริโภคและขับเคลื่อนตลาดนี้ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งเรายังวางแผนที่จะขยายสู่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า สำหรับทั้งรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle หรือ HEV) นอกเหนือไปจากรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle หรือ PHEV) ซึ่งมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ถือเป็นบริษัทผู้บุกเบิกตลาดระดับโลกที่สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่เพื่อการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ เรากำลังพิจารณาหลากหลายทางเลือก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การศึกษาวัตถุประสงค์การใช้งานเชิงพาณิชย์"

ภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว ไปรษณีย์ไทยจะใช้รถมิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ ในการขนส่งพัสดุให้แก่ลูกค้า โดยเลือกที่ทำการไปรษณีย์นำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ ที่ทำการไปรษณีย์หลักสี่ กรุงเทพฯ และ ที่ทำการไปรษณีย์คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อเริ่มการศึกษาดังกล่าว โดยแต่ละสาขานำร่อง โออาร์จะติดตั้งสถานีชาร์จไฟ EV Station PluZ เพื่อชาร์จไฟรถมิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ ด้วยการชาร์จไฟแบบปกติ (AC) อีกทั้งไปรษณีย์ไทยจะทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จากการใช้งานรถมิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ ตลอดจนร่วมกันจัดการฝึกอบรมและลงพื้นที่เพื่อให้พนักงานของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ไปรษณีย์ไทย และ โออาร์  ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคนิคร่วมกัน 

ด้าน นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หนึ่งในเป้าหมายปี 2030 (พ.ศ. 2573) ของ โออาร์ คือการมุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ตลอดจนวิธีการอื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ความร่วมมือในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่สอคคล้องกับเป้าหมายดังกล่าวแต่ยังเป็นไปตามหนึ่งในพันธกิจในด้านการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจพลังงานแบบผสมผสานเพื่อการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ (Seamless mobility) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดและเป็นแนวทางการใช้พลังงานในอนาคต โดยในปีนี้ โออาร์ มีแผนเปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟ EV Station PluZ เพิ่มขึ้นอีก 350 แห่ง ทั้งภายในและภายนอก พีทีที สเตชั่น เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือกับ ไปรษณีย์ไทย และ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นผู้นำด้านการขนส่งพัสดุและด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการยกระดับการขนส่งพัสดุให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

มิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ เป็นรถยนต์ที่รองรับการชาร์จไฟแบบเร็วด้วยหัวชาร์จ CHAdeMO ซึ่งสามารถชาร์จไฟได้สูงสุดถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลาเพียง 35 นาที หรือด้วยระบบการชาร์จไฟแบบปกติจนเต็มแบตเตอรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ในเวลา 7 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีระบบคืนพลังงานขณะเบรกที่จะช่วยแปลงพลังงานจากการเบรกเป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ในขณะขับขี่มิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ มีความคล้ายคลึงกับมิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ที่สามารถเป็นแหล่งพลังงาน ภายใต้คอนเซ็ปต์ระบบนิเวศพลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคต หรือ เดนโด ไดร์ฟ เฮ้าส์ (Dendo Drive House) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดด้านเทคโนโลยี V2X ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส อีกด้วย

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ได้จัดส่งรถ มิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ จำนวน 9,000 คัน ให้กับบริษัทขนส่งต่าง ๆ รวมถึงบริษัทค้าปลีก และหน่วยงานรัฐในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงยังจัดส่งอีก 1,500 คัน เพื่อเป็นรถยนต์ที่ใช้ในกรมไปรษณีย์ของญี่ปุ่นอีกด้วย ก่อนหน้านี้ ในเดือนกรกฎาคม 2564 มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับ บริษัท อีเทอร์นิตี้ แกรนด์ โลจิสติคส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินโครงการศึกษานำร่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ในประเทศไทย โครงการศึกษานำร่องทั้งหมด เกิดขึ้นหลังจากการเปิดตัว รถมิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการส่งเสริมยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้าของบริษัทฯ ในประเทศไทย ในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยรถมิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ปล่อยมลพิษในระดับต่ำจนถึงศูนย์ และช่วยคลายความกังวลด้านระยะทางการขับขี่ พร้อมสมรรถนะการขับขี่ที่ยอดเยี่ยมในระดับเดียวกับรถยนต์เอสยูวีที่ดีที่สุดในปัจจุบัน มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ยังเป็นรถยนต์ที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ความพร้อมและความสะดวกสบายด้านโครงสร้างพื้นฐานของการชาร์จไฟฟ้าในปัจจุบัน

โครงการศึกษานำร่องร่วมกับ ไปรษณีย์ไทย และ โออาร์ ในครั้งนี้ จะช่วยให้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เดินหน้าเข้าใกล้เป้าหมายหลักของบริษัทฯ ในการเป็นบริษัทที่ก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลไทยในการลดการปล่อยมลภาวะที่เกิดจากยานพาหนะในประเทศอีกด้วยมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มุ่งมั่นและพร้อมแสวงหาโอกาสความร่วมมือใหม่ ๆ กับองค์กรภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาขับเคลื่อนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่จะช่วยตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์และระบบคมนาคมของไทยในอนาคตได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH