สทป. จับมือ กพท. เปิดศูนย์ฝึกอบรมระบบอากาศยานไร้คนขับแห่งแรกของไทย หนึ่งในภูมิภาคอาเซียน

สทป. จับมือ กพท. เปิด "ศูนย์ฝึกอบรมระบบอากาศยานไร้คนขับ" แห่งแรกของไทย

อัปเดตล่าสุด 10 เม.ย. 2564
  • Share :
  • 804 Reads   

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ The Civil Aviation Authority of Thailand (CAAT) ร่วมกันเปิดตัวศูนย์ฝึกอบรมระบบอากาศยานไร้คนขับ (Defence Technology Institute Unmanned Aircraft Systems Training Centre : DTI-UTC) ภายใต้ชื่องาน “DTI-UTC Grand Opening: Flying into the Future by DTI” เพื่อพัฒนาและยกระดับบุคลากรผู้ใช้งานอากาศยานไร้คนขับให้มีความเชี่ยวชาญทัดเทียมต่างชาติ และสร้างความเข้าใจกฎข้อบังคับต่าง ๆ ตามหลักการบินพาณิชย์ได้อย่างมีมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศและเป็นหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน

Advertisement

พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 สทป. ได้เตรียมความพร้อมตามแผนแม่บทในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบยานไร้คนขับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือระบบอากาศยานไร้คนขับ และด้วยความตระหนักและเล็งเห็นถึงปัญหาของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน และจำนวนนักบินระบบอากาศยานไร้คนขับที่มีความรู้และความชำนาญอยู่ในวงจำกัด โดยเฉพาะในหน่วยงานความมั่นคงหรือทหารที่ใช้งานมานานแล้ว รวมถึงผู้ที่ใช้อากาศยานไร้คนขับที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความชำนาญไม่เพียงพอ ด้วยเหตุทั้งหมดจึงริเริ่มรวบรวมข้อมูลและจัดทำแผนงานเพื่อจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม DTI-UTC ในปี พ.ศ. 2561 พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานร่างหลักสูตรให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล จากนั้นในปี พ.ศ. 2562 ได้ยื่นเรื่องขอรับรองเป็นสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน (Approved Training Organization : ATO) กระทั่งในปี พ.ศ. 2563 ได้รับการรับรองให้เป็นสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน และในปี พ.ศ. 2564 จึงพร้อมเปิดเป็นศูนย์ฝึกอบรม  DTI-UTC อย่างเต็มรูปแบบและถูกต้องตามกฎหมาย

ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยเคยได้รับธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) เนื่องจากมาตรฐานด้านการบินของไทยมีความเสี่ยงสูงและไม่ปลอดภัย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของประเทศในภาพรวม สร้างมูลค่าความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม DTI-UTC จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการใช้งานอากาศยานไร้คนขับให้ปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งไม่ใช่เพียงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจหรือประกอบอาชีพโดยใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน (Drone) เป็นเครื่องมือ อาทิ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่มีการถ่ายทำภาพมุมสูง หรือด้านเกษตรกรรมที่ใช้โดรนในการสำรวจพื้นที่ พืชผลการเกษตร ตรวจสอบการทำงานของแรงงานด้านเกษตรกรรม และการฉีดพ่นเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ตลอดจนภารกิจการบรรเทาสาธารณภัย อาทิ การใช้โดรนช่วยในการดับเพลิง กระจายเสียง กู้ชีพผู้ประสบภัย เป็นต้น

ด้าน นายกลศ เสนาลักษณ์ ผู้จัดการฝ่ายมาตรฐานผู้ประจำหน้าที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แผนงานของศูนย์ฝึกอบรม DTI-UTC ได้จัดทำหลักสูตร Remote Pilot Licence (RPL) ซึ่งเป็นชื่อที่ กพท. จะใช้ออกเป็นใบอนุญาตนักบินอีกประเภทหนึ่ง มีอายุ 5 ปี จากเดิมที่มีใบอนุญาตนักบินแบบ Private Pilot Licence (PPL) สำหรับการบินเครื่องบินส่วนตัว และใบอนุญาตนักบินแบบ Commercial Pilot Licence (CPL) สำหรับการบินเชิงพาณิชย์ เป็นต้น โดยจุดมุ่งหมายสำคัญของหลักสูตรไม่ใช่การฝึกอบรมเพื่อความรู้ความเข้าใจต่อการใช้โดรนเพื่อการถ่ายภาพหรือวัตถุประสงค์ทั่วไปเท่านั้น หากแต่ยังมุ่งพัฒนา 3H ประกอบด้วย ความรู้ (Head) ความชำนาญ (Hand) และทัศนคติที่ถูกต้อง (Heart) เพื่อให้ผู้เรียนมีขีดความสามารถในการใช้โดรนตามภารกิจได้อย่างปลอดภัย เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับใบประกาศนียบัตรเพื่อไปสอบใบอนุญาตจาก กพท. อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องได้รับการฝึกอบรมการใช้อากาศยานไร้คนขับ กล่าวคือ การซื้อโดรนเป็นเรื่องง่ายและเมื่อนำมาใช้ตามคำแนะนำในคู่มือก็สามารถบินได้จริง แต่อย่างไรก็ดี อากาศยานไร้คนขับยังใช้ห้วงอากาศเดียวกับเครื่องบิน สิ่งที่ศูนย์ฝึกอบรม DTI-UTC จะสอน คือการปฏิบัติตามกฎการบิน การบินด้วยท่าทางที่ถูกต้อง และให้ผู้เรียนมีความรู้ด้านกฎหมาย หรือขึ้นบินแล้วไม่เกิดอุบัติภัย และไม่เข้าไปในพื้นที่ห้ามบิน เราจึงจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม DTI-UTC และในอนาคตจะต้องมีใบอนุญาตบินโดรน เช่นเดียวกับใบขับขี่รถยนต์ และจะเป็นโอกาสสร้างอาชีพเฉพาะทาง คือ อาชีพนักบินอากาศยานไร้คนขับหรือ Remote Pilot”

Advertisement

สำหรับรายละเอียดหลักสูตร 1.หลักสูตร Remote Pilot Visual Line of Sight Certificate (RVC) หลักสูตรนักบินระบบอากาศยานไร้คนขับ และ 2.หลักสูตร Instructor Remote Pilot Visual Line of Sight Certificate (IRVC) หลักสูตรครูการบินระบบอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตร จะแบ่งออกเป็นประเภทอากาศยานไร้คนขับแบบ Aero Plane ค่าใช้จ่ายประมาณ 60,000 บาท ระยะเวลาเรียน 3 สัปดาห์ ประกอบด้วยภาคทฤษฎี จำนวน 18 ชั่วโมง ภาคการฝึกจำลองการบิน จำนวน 2 ชั่วโมงบิน และภาคอากาศ จำนวน 10 ชั่วโมงบิน และแบบ Multi – Rotor ระยะเวลาเรียน 2 สัปดาห์ ค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาท ประกอบด้วยภาคทฤษฎี จำนวน 18 ชั่วโมง ภาคการฝึกจำลองการบิน จำนวน 2 ชั่วโมงบิน และภาคอากาศ จำนวน 5 ชั่วโมงบิน ทั้งนี้ตามมาตรฐานการบินโดรนทั้งทางยุโรป สหรัฐฯ หรือออสเตรเลีย จะกำหนดความสามารถของนักบินโดรนให้มีความรู้เทียบเท่ากับนักบินที่ขับเครื่องบินส่วนบุคคล (PPL) เพราะการบินโดรนก็ต้องใช้ห้วงอากาศเดียวกันกับเครื่องบินจริง

ด้าน โบว์-เมลดา สุศรี นางเอกสาวคนใหม่ของวิกสาม ได้เปิดเผยความรู้สึกจากการได้เข้าเป็นนักเรียนในหลักสูตรของ DTI-UTC ว่า ส่วนตัวมีความสนใจต่อการใช้งานอากาศยานไร้คนขับอยู่แล้ว เพราะคุ้นเคยกับโดรนในฐานะนักแสดงที่มีฉากในการใช้โดรนในการถ่ายทำภาพมุมสูงตลอด จึงทำให้เกิดความสนใจอยากศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นหลักกฎข้อบังคับ ท่าบินที่ถูกต้อง ซึ่งลำพังการซื้อโดรนมาใช้เป็นเรื่องง่ายเพราะแต่ละเครื่องจะมาพร้อมคู่มือที่อธิบายการใช้งานไว้อย่างละเอียด แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับจากการฝึกอบรมจะสามารถนำโดรนมาใช้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ตลอดจนไม่สร้างความเสียหายในวงกว้างที่อาจเกิดขึ้นอนาคต

สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก ค้นหา “ศูนย์ฝึกอบรมระบบอากาศยานไร้คนขับ DTI – UTC” หรือ “Defence Technology Institute” หรือ ติดต่อสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (แจ้งวัฒนะ) โทรศัพท์ : 0 2980 6688