กลุ่มคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร ร่วม วิศวะมหิดล พัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ ผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงผู้ประกอบการ

กลุ่มคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร ร่วม วิศวะมหิดล พัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ ผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงผู้ประกอบการ

อัปเดตล่าสุด 11 ส.ค. 2563
  • Share :
  • 646 Reads   

กลุ่มคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ปี 2563  มุ่งเป้าพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ตอบสนองความต้องการของตลาดวิถีใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ ณ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

นายโฆษิต กรีพร ประธานกลุ่มคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ปี 2563 เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2563 โดยมีผู้ประกอบการกลุ่มคลัสเตอร์การแพทย์พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ผ่านการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมโครงการจำนวน 30 ราย วัตถุประสงค์โครงการฯ เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพและความสามารถในการบริหารจัดการโรคโควิด-19  ที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพจนได้รับความชื่นชมและเป็นที่ยอมรับจากประชาคมโลก ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่มีคุณภาพและหลากหลาย ดังนั้นการส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์ ผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะช่วยยกระดับธุรกิจต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต สู่โอกาสและตลาดใหม่ ๆ 

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกและนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อุปกรณ์การแพทย์ที่ผลิตเพื่อส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งและใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน 84% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด แต่เรายังมีโอกาสกว้างไกลในการส่งเสริมนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและมีมูลค่าสูง สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยกำลังเติบโตด้วยดี ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่คาดว่าจะอยู่ที่ 9 -10% ตั้งแต่ปี 2019 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2021 สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ในการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและรวมกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรครั้งนี้ จัดขึ้นโดยภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเปิดเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ใช้ศักยภาพความพร้อมและจุดแข็งทางวิศวกรรมชีวการแพทย์นั้น นับเป็นประโยชน์ยิ่งต่อผู้ประกอบการในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีและการปรึกษาเชิงวิชาการ ตลอดจนพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน

รศ.ดร.นรเศรษฐ์ ณ สงขลา หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการฯ ว่า กิจกรรมประกอบด้วยเริ่มแรกทางคณะวิศวะมหิดล ในฐานะที่ปรึกษาได้ลงไปเยี่ยมเยียนแต่ละโรงงานของผู้ประกอบการ และดูรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการด้านเครื่องมือแพทย์อยู่แล้ว และอีกส่วนหนึ่งมาจากแวดวงการ์เม้นท์และอื่น ๆ เช่น ทำผ้าใบต้องการพัฒนาวัสดุและรูปแบบมาทำอุปกรณ์ที่ใช้ในการแพทย์ เช่น เต๊นท์แพทย์ ห้องพยาบาลสนาม จากนั้นผู้ประกอบการจะทำแผนธุรกิจของผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ (Business Model) นำมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์แผนธุรกิจ ลดความเสี่ยง เพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจและแนวโน้มความสำเร็จมากยิ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการจะได้เข้าฝึกอบรมทักษะความเป็นมืออาชีพ เช่น การเสนอแข่งไอเดียธุรกิจ (Pitching) การขอทุนสนับสนุน นอกจากนี้ยังได้มาเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและรับคำแนะนำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนมาเป็นต้นแบบนวัตกรรม

นวัตกรรมจากผู้ประกอบการกลุ่มคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร อาทิ เครื่องไบโอพลาสม่าระบบเย็นในการรักษาแผลเรื้อรัง, หมวกเลเซอร์ปลูกผม ซึ่งใช้คลื่นแสงเลเซอร์, ระบบท่อลมสำหรับส่งตัวอย่างหลอดเลือด (Pneumatic Transport System : PTS),  ระบบปฏิบัติการทันตกรรมปลอดเชื้อ เป็นการพัฒนาระบบการไหลเวียนและการกรองอากาศ การป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ภายในห้องทันตกรรม เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับทันตแพทย์ เป็นต้น

ทั้งนี้นวัตกรรมเหล่านี้จะได้ผ่านการทดสอบจากศูนย์ทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพของเครื่องมือแพทย์ (Laboratory for Biocompatibility Testing of Medical Devices) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการระดับสูงอย่างครบวงจรมาตรฐานระดับโลก โดยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025:2017 และกฏเกณฑ์ของหน่วยงานที่ให้การรับรองในนานาประเทศ ช่วยให้การพัฒนานวัตกรรมของไทยมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ประหยัดเวลาและต้นทุน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการเดินทางหรือส่งทดสอบยังต่างประเทศ

 

อ่านต่อ: