ทดสอบ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า สถาบันยานยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า

สยย. เดินหน้า ให้บริการทดสอบ-พัฒนาตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามาตรฐาน EV สู่ตลาดโลก

อัปเดตล่าสุด 4 ต.ค. 2564
  • Share :
  • 564 Reads   

สถาบันยานยนต์ (สยย.) พร้อมให้บริการทดสอบ และพัฒนาตามข้อกำหนดตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าตาม มอก. 3264-2564 โดยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ สนามและเครื่องมือทดสอบอย่างครบถ้วน

หลังจากที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แถลงถึงผลการดำเนินงานของสำนักงานมาตราฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ว่าคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้มีมติเห็นชอบให้สมอ. นำร่างมาตรฐานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า (มอก.3264-2564) และร่างมาตรฐานด้านยานยนต์อัจฉริยะอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ ไปประกาศใช้เป็นมาตรฐานแล้ว เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน (EV) ที่สำคัญของโลกตามนโยบายของประเทศ

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2564 นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ (สยย.) เปิดเผยว่า สถาบันยานยนต์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการของคณะผู้จัดทำร่างมาตรฐานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ได้ใช้มาตรฐาน EU 168/2013 อ้างอิงในการจัดทำ เพื่อให้รถตุ๊กตุ๊กตามมาตรฐานนี้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสากล และเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมการผลิตรถตุ๊กตุ๊กสันดาปภายใน สู่การผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าตามนโยบายของประเทศ โดยมาตรฐานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ากำหนดคุณสมบัติที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ด้านลักษณะทั่วไป

(1) ขนาด ต้องมีความยาวไม่เกิน 4,000 มิลลิเมตร ความกว้างไม่เกิน 2,000 มิลลิเมตร ความสูงไม่เกิน 2,000 มิลลิเมตร และความสูงภายในไม่น้อยกว่า 1,200 มิลลิเมตร

(2) โครงสร้าง ต้องมั่งคงแข็งแรง ที่นั่งทุกที่นั่งต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย

(3) มวลรถเปล่า ต้องไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม

(4) มอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังพิกัดมอเตอร์ไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์

2. ด้านความปลอดภัย 

(1) สมดุลการเข้าโค้ง (J–Turn) ต้องไม่ลื่นไถลออกนอกโค้ง เมื่อขับขี่เข้าโค้งที่รัศมีโค้ง 3 เมตร ด้วยความเร็วเข้าโค้งที่ (20+1) กิโลเมตร/ชั่วโมง 

(2) ระบบเบรก (Brake Performance) ต้องมีระยะเบรกไม่เกิน 20.09 เมตร และไม่พลิกคว่ำหรือลื่นไถลออกนอกช่องทางที่กำหนด เมื่อขับขี่ด้วยความเร็ว 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้แรงเบรกที่เท้าไม่เกิน 500 นิวตัน 

(3) การเบรกขณะจอดบนพื้นลาดเอียง (Parking Brake) ต้องหยุดนิ่งได้มากกว่า 60 วินาที โดยไม่ลื่นไถลลงบนพื้นลาดเอียงที่ 12% เมื่อใช้แรงดึงเบรกมือไม่เกิน 200 นิวตัน 

(4) ความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) ต้องมีเกณฑ์การปล่อยสัญญาณรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Radiated Emission) และภูมิคุ้มกันต่อการรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Immunity Radiation Fields) เป็นไปตามที่กำหนด  

(5) การป้องกันน้ำ ต้องมีค่าความต้านทานทางฉนวนไฟฟ้าของอุปกรณ์ควบคุมที่ใช้ระบบไฟฟ้ากระแสตรง มากกว่า 100 โอห์ม/โวล์ท หรือมีค่าความต้านทานทางฉนวนไฟฟ้าของอุปกรณ์ควบคุมที่ใช้ระบบไฟฟ้ากระแสสลับหรือที่ใช้ระบบไฟฟ้าผสมระหว่างกระแสตรงและกระแสสลับ มากกว่า 500 โอห์ม/โวล์ท เมื่อนำรถตุ๊กตุ๊กไปวิ่งฟรีอยู่กับที่ในน้ำที่ระดับความสูงของน้ำ 30 เซนติเมตร ด้วยความเร็ว (20+1) กิโลเมตร/ชั่วโมง

(6) มาตรวัดความเร็ว ต้องอ่านค่าความเร็วได้มากกว่าค่าความเร็วจริง แต่ต้องไม่เกิน 10 % ของค่าความเร็วจริง บวกกับ 4 กิโลเมตร/ระยะเวลา 1 ชั่วโมง

3. ด้านอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า

ด้านอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า ต้องมีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าเป็นไปตามที่ผู้ทำกำหนด 

4. ด้านสมรรถนะ

(1) เสถียรภาพการใช้งาน ต้องขับขี่ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 30 นาที ที่ความเร็วมากกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต่อการประจุพลังงานไฟฟ้าของแบตเตอรี่ 1 ครั้ง

(2) ความเร็วสูงสุด ต้องมีความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่าที่ผู้ทำกำหนด

(3) ระยะทางขับขี่ ต้องขับขี่ได้ไม่น้อยกว่าระยะทางที่ผู้ทำกำหนดต่อการประจุพลังงานไฟฟ้าของแบตเตอรี่ 1 ครั้ง

 

ปัจจุบัน สยย. มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ สนามและเครื่องมือทดสอบอย่างครบถ้วน พร้อมให้บริการทดสอบ และพัฒนาตามข้อกำหนดตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าตาม มอก. 3264-2564 เพื่อส่งเสริมการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าในประเทศให้มีคุณภาพสู่ตลาดโลกตามนโยบายของประเทศ และเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH