รี้ด เทรดเด็กซ์ ฉลองวันงานแสดงสินค้าโลก เปิดตัวแม่ทัพใหม่ สร้าง Hybrid Exhibition เร่งหนุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ

อัปเดตล่าสุด 5 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 776 Reads   
รี้ด เทรดเด็กซ์ ร่วมฉลองวันงานแสดงสินค้าโลก 2020 โดย UFI และ 41 องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก ร่วมใจประชาสัมพันธ์ชูความสำคัญบทบาทงานแสดงสินค้า กุญแจสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมเปิดตัวแม่ทัพใหม่ เผยกลยุทธ์ Hybrid Exhibition 365 วัน ด้วยการพัฒนาพลังแห่งการได้พบกัน Face-to-face กับพลังแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล มาผสมผสานจนเกิดเป็นโอกาสทางธุรกิจ และประสบการณ์การร่วมงานแสดงสินค้าที่น่าพึงพอใจสูงสุด 
 
วันงานแสดงสินค้าโลก 2020 หรือ Global Exhibition Day (GED) 2020 ในวันที่ 3 มิถุนายนนี้ ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ได้รับการสนับสนุนจาก 41 องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึง UFI และสมาชิก เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านธีมของงาน “Exhibitions are key to rebuilding economies” ซึ่งชูความสำคัญของงานแสดงสินค้าที่เป็นกุญแจสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ 
 
พร้อมกันนี้  รี้ด เทรดเด็กซ์ เปิดตัวแม่ทัพใหม่ คุณวราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ รี้ด เทรดเด็กซ์ เผย งานแสดงสินค้าเป็นเครื่องมือทางการตลาดชิ้นสำคัญที่ผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ สามารถใช้เชื่อมต่อกับลูกค้า ฟื้นฟูและสร้างแบรนด์ในตลาดได้อย่างรวดเร็วที่สุด เพราะเป็นการรวมกันซึ่งแรงบันดาลใจ ไอเดีย เทคโนโลยี ความรู้ ประสบการณ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวเร่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเยียวยาธุรกิจและสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว 
 
ภาพรวมอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าปีนี้ถูกกระทบอย่างมาก จากสถานการณ์โควิด-19 โดยจากข้อมูลผลกระทบที่เกิดกับงานแสดงสินค้าที่สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือ TCEB ให้การสนับสนุนในปีงบประมาณ 2563 นั้น โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 22 เมษายน พบว่ามีงานที่ถูกเลื่อนออกไป 22 งาน ยกเลิก 3 งาน เกิดผลกระทบเป็นการสูญเสียเงินสะพัดในประเทศที่ควรจะเกิดจากการใช้จ่ายของผู้ร่วมงานต่างชาติจำนวนกว่า 46,000 รายที่ไม่ได้เข้ามา คิดเป็นเงินจำนวนกว่า 3,400 ล้านบาท (คำนวณเงินสะพัดจากมูลค่าการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปที่ 74,000 บาท) 
 
คาดการณ์ว่าตอนนี้ในหลายประเทศอุตสาหกรรมไมซ์กำลังเข้าสู่ระยะที่สองของการเลื่อนงาน โดยระยะแรกเกิดขึ้นกับงานที่จัดในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน ที่ได้ประกาศเลื่อนการจัดงานออกไปก่อนหน้านี้  ทั้งนี้ ระยะที่สองจะเกิดขึ้นกับงานที่จัดในช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายน โดยงานที่มีกำหนดจัดในช่วงเดือนกรกฎาคมนั้น มีแนวโน้มสูงว่าจะถูกพิจารณาเลื่อนออกไปจัดในช่วงเดือนธันวาคมเป็นส่วนใหญ่ 
 
โดยทาง รี้ด เทรดเด็กซ์ เองก็ได้พิจารณาปรับเลื่อนงานแสดงสินค้าบางงานออกไป อาทิ งาน อินเตอร์พลาส ไทยแลนด์ งานแสดงเทคโนโลยีเพื่อการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ และ งานเนปคอน ไทยแลนด์ งานแสดงเทคโนโลยีเพื่อการประกอบ การวัด และการทดสอบคุณภาพเพื่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เลื่อนจากเดือนมิถุนายนออกไปอยู่ในระหว่างวันที่ 14-17 ธันวาคม 2563 ที่ ไบเทค บางนา ซึ่งเป็นสองงานที่น่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของสองอุตสาหกรรมหลักในไทยที่กำลังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมพลาสติกที่สร้างผลิตภัณฑ์และบริการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัย ทั้งหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ และ ผลิตพลาสติกบรรจุภัณฑ์อาหาร และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เข้ามาใช้ในชีวิตช่วง New Normal
 
ส่วนงาน แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2020 งานแสดงเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตและสนับสนุน และงาน แฟ็กเทค งานสำหรับการบริหารจัดการโรงงาน ไปเป็นวันที่ 23 - 26 มิถุนายน 2564 และงานจีเอฟที งานสำหรับการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นวันที่ 7-10 กรกฎาคม 2564 โดยทั้งสองงานจะจัดที่ ไบเทค บางนา
 
ส่วนงานในช่วงเดือนสิงหาคมและพฤศจิกายน ซึ่งเรามีอยู่สามงาน ได้แก่ งานไทล็อก-โลจิสติกส์ ที่เราจัดร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดวันที่ 26-28 สิงหาคมนี้, งาน คอสเม็กซ์ งานสำหรับการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย กำหนดจัดวันที่ 3-5 พฤศจิกายน และงาน เมทัลเล็กซ์ มหกรรมเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีโลหะการ กำหนดจัดวันที่ 18-21 พฤศจิกายน ซึ่งทั้งสามงานจะจัดขึ้นที่ ไบเทค บางนา 
 
              ตารางการจัดงาน รี้ด เทรดเด็กซ์ ในประเทศไทย 
 
 
ระหว่างนี้ บริษัทฯ ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง เดินหน้าพัฒนางานแสดงสินค้ารูปแบบ Hybrid Exhibition เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการร่วมงาน เช่น การใช้ Big Data เพื่อวิเคราะห์เชิงลึกมากขึ้น เน้นความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย  การให้บริการแบบ Personalized Exhibition Experience รวมถึงการพัฒนา AI เพื่อใช้ในการจับคู่เจรจาทางธุรกิจ (Business Matching) เพื่อเสริมโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ร่วมงาน จะทำให้ความเข้มข้นด้านโอกาสทางธุรกิจและ ROI ของผู้ร่วมงานเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเราพึ่งประสบความสำเร็จในการจัด Webinar ไปแล้วเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กับงาน Plastics Forum Webinar ซึ่งมีผู้ร่วมสัมมนาจำนวนทั้งสิ้น 827 คน พบกว่าผู้ร่วมงานถึง 97% มีความพึงพอใจในงาน และยืนยันว่าจะร่วมงานสัมมนาออนไลน์ที่เราจะจัดขึ้นอีกครั้งแน่นอน ทำให้เรายิ่งมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นในรูปแบบการร่วมงานแบบออนไลน์อื่น ๆ ที่เราเตรียมไว้ให้ผู้ร่วมงานของเรา 
 
โดยเรามีกำหนดจัดงานรูปแบบ Webinar ขึ้นอีกครั้งภายใต้ชื่อ Manufacturing Forum Webinar ซึ่งจะพูดถึงการดำเนินธุรกิจในช่วง New Normal ของอุตสาหกรรมการผลิตโดยรวม กำหนดจัดวันที่ 25 มิถุนายนนี้
 
ด้วยกลยุทธ์ “Hybrid Exhibition 365 วัน” เรายังมีรูปแบบการเชื่อมต่อผู้ซื้อและผู้ขายผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล “On-demand Buyers Connectors” มากมายหลายรูปแบบ อาทิ Technology Demonstration, Digital Sourcing และ Webinar เป็นต้น สำหรับให้บริการผู้แสดงสินค้าและผู้ชมงาน ในฐานข้อมูลของเราด้วย ดังนั้น การร่วมงานแสดงสินค้าจะเป็นการร่วมงานอย่างต่อเนื่อง นั่นคือโอกาสในการที่ผู้แสดงสินค้าของเราจะได้พบผู้ซื้ออย่างต่อเนื่อง และผู้ซื้อก็จะค้นหาผ่านเรา ได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 365 วัน ด้วยเช่นกัน 
 
อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า เทคโนโลยีดิจิทัลไม่สามารถทดแทนการพบกันแบบ Face-to-face ได้ เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้การพบกันแบบตัวต่อตัวนั้นทรงพลังกว่าการเห็นหน้ากันผ่านหน้าจอ การได้พบปะพูดคุย เห็นภาษากาย มีงานวิจัยที่พบว่า 70 – 93% ของการสื่อสารมาจากภาษากาย การได้สัมผัสสินค้าด้วยตนเอง การได้พบปะเพื่อนร่วมวงการ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีบทความใน Harvard Business Review ที่เขียนเอาไว้ถึงงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Experimental Social Psychology ซึ่งพบว่า การสื่อสารเพื่อให้เกิดผลบางอย่างนั้น การสื่อสารแบบ Face-to-face นั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าการสื่อสารผ่านอีเมลถึง 34 เท่า ดังนั้น Exhibition ในยุค 4.0 จะเป็นการผสมผสานกันระหว่างการพบกันแบบ Face-to-face และการนำเทคโนโลยดิจิทัลเข้ามาเสริมโอกาสในการทำธุรกิจนั่นเอง
 
ทั้งนี้ ภาครัฐ โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และภาคเอกชน โดยสมาคมต่างๆ ในวงการงานแสดงสินค้าไทย ผู้จัดงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างร่วมมือกัน รวบรวมมาตรการการป้องกันต่างๆ เพื่อดูแลผู้ร่วมงานทุกคนให้ปลอดภัยอย่างเคร่งครัดและรัดกุม รี้ด เทรดเด็กซ์ เชื่อว่า เมื่อมีการสื่อสารเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยออกไป ผู้ประกอบการจะเกิดความมั่นใจ และเดินทางมาร่วมงานโดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ซึ่งได้กลายเป็น New Normal ไปแล้ว และท่ามกลางความเป็น New Normal นี้เอง ธุรกิจต่างๆ ที่หยุดชะงักหรือชะลอตัวไป จะกลับมาฟื้นขึ้นมายืนหยัดได้อีกครั้ง คุณวราภรณ์ ธรรมจรีย์ กล่าวปิดท้าย