วว. รับมอบใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการ มอก.17025 -2561 (ISO/IEC 17025 : 2017) ในกรอบ Lab ศูนย์ทดสอบและมาตรฐานระบบขนส่งทางราง จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

ศูนย์ทดสอบและมาตรฐานระบบขนส่งทางราง แห่งแรกในไทยได้การรับรอง ISO/IEC 17025 : 2017 ด้านระบบราง

อัปเดตล่าสุด 24 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 1,181 Reads   

ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) วว. ได้รับใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการ มอก. 17025-2561 (ISO/IEC 17025 : 2017) เพื่อทดสอบทางกลของโลหะและผลิตภัณฑ์โลหะ รวมถึงชิ้นงานเชื่อมของเหล็ก เหล็กกล้า โลหะผสม ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025 เวอร์ชั่น 2017 ด้านระบบราง ตามมาตรฐาน BSEN 13230, BSEN 13481 และ BSEN 13146 ครอบคลุมผลิตภัณฑ์หมอนคอนกรีต หมอนประแจ และเครื่องยึดเหนี่ยวราง

วันที่ 24 กันยายน 2563 - ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับมอบใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการ มอก. 17025-2561 (ISO/IEC 17025 : 2017) จาก นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดย ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) วว. ได้รับการรับรองห้องปฏิบัติการ ครอบคลุมด้านการทดสอบทางกลของโลหะและผลิตภัณฑ์โลหะ รวมถึงชิ้นงานเชื่อมของเหล็ก เหล็กกล้า โลหะผสม และรวมถึงผลิตภัณฑ์ระบบราง ได้แก่ หมอนคอนกรีต  หมอนประแจ  และเครื่องยึดเหนี่ยวราง ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025 เวอร์ชั่น 2017 ด้านระบบราง ตามมาตรฐาน BSEN 13230, BSEN 13481 และ BSEN 13146 ครอบคลุมผลิตภัณฑ์หมอนคอนกรีต หมอนประแจ และเครื่องยึดเหนี่ยวราง โดยที่ ศทร. วว. สามารถทดสอบได้ครบทุกรายการ ย้ำพร้อมนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยผลิตและส่งออกสินค้าในภูมิภาค สนับสนุนพัฒนาโลจิสติกส์ประสิทธิภาพสูง สร้างความได้เปรียบการแข่งขันให้ประเทศไทย 
 
โอกาสนี้ นายนำชัย  สกุลฏ์โชคนำชัย ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทโชคนำชัย  นายกฤช  นิวาตพันธุ์ ผู้จัดการหน่วยวิจัยและพัฒนา (เชซซีย์) บริษัท ไมน์ โมบิลิตี รีเสิร์ช จำกัด นายจิตต์ เลวรรณ์ ผู้ช่วยรองประธานบริหารสายงานธุรกิจ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด  Mr.Louis Vandamme ,General Manager, Pandrol (Thailand) Co.,Ltd. นายณัฐพงษ์   ปิตา  Technical support manager ,VOSSLOH  นายวิรัช  จันทรา รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. ดร.อาณัติ  หาทรัพย์  ผู้อำนวยการ ศทร. พร้อมคณะนักวิชาการ ร่วมแสดงความยินดี  (24 กันยายน 2563ณ ห้องประชุม 200 อาคาร สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพฯ)

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง   เป็นหน่วยงานในสังกัดกลุ่มบริการอุตสาหกรรม วว. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการทดสอบวัสดุ ชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์โลหะ และชิ้นส่วนระบบราง จากการที่ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าห้องปฏิบัติการ วว. สามารถดำเนินงานด้านระบบคุณภาพ มีความสามารถทางวิชาการ ผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการของ ศทร. น่าเชื่อถือ ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือในรายงานผลการทดสอบเป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศสมาชิก Asia Pacific Laboratory Accreditation (APLAC) และ International Laboratory Accreditation Council (ILAC) ในความเทียบเท่าทางด้านความสามารถทางวิชาการ การอำนวยประโยชน์และความสะดวกทางการค้าระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศ ลดการกีดกันทางการค้า อันเนื่องมาจากการทดสอบซ้ำ ลดการตรวจซ้ำจากประเทศคู่ค้า

ทั้งนี้ การได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการของ ศทร. ในวันนี้จาก สมอ. เป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025 เวอร์ชั่น 2017 ด้านระบบราง ตามมาตรฐาน BSEN 13230, BSEN 13481 และ BSEN 13146 ครอบคลุมผลิตภัณฑ์หมอนคอนกรีต หมอนประแจ และเครื่องยึดเหนี่ยวราง โดยที่ ศทร. สามารถทดสอบได้ครบทุกรายการ และ ศทร. ยังมีแผนงานจะขยายขอบข่ายขอการรับรองให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์งานทาง และล้อเลื่อนทุกระบบต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพของประเทศไทยในด้านระบบรางที่ก้าวหน้าและไม่ได้ด้อยกว่าประเทศใด ๆ ในภูมิภาคนี้
 
“...ในโอกาสที่ ศทร. วว. ได้รับการใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการ มอก.17025 -2561 (ISO/IEC 17025 : 2017)  จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอย่างเป็นทางการในวันนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ วว. ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ ผู้ผลิตชิ้นส่วนทางด้านยานยนต์ และชิ้นส่วนระบบรางในประเทศและต่างประเทศ  รวมถึงหน่วยงานภาครัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้เห็นถึงศักยภาพในการให้บริการทดสอบด้านระบบรางของประเทศไทย ที่มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นับเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย...” ผู้ว่าการ วว.กล่าวเพิ่มเติม 
 
นายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการกลุ่มบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวถึงผลการดำเนินของ ศทร. ในรอบปี 2563 ว่า ศทร. มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ  ได้แก่  บริการทดสอบให้แก่โครงการก่อสร้างรถไฟของกระทรวงคมนาคม 15 สัญญาโครงการ โดยชิ้นส่วนที่ ศทร. ให้บริการทดสอบ เช่น  ตาข่ายเสริมกำลังดิน (Geo-grid) วัสดุในงานก่อสร้าง (คอนกรีต  ยาง วัสดุคอมโพสิต เหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อย เหล็กรูปพรรณ  ลวดเหล็กอัดแรง ฯลฯ) แผ่นยางรองราง สลักภัณฑ์ หมอนคอนกรีต หมอนประแจ ราง รอยเชื่อมราง ประกับราง เครื่องยึดเหนี่ยวราง แผ่นพื้นทางผ่านเสมอระดับ คันชักประแจกล ท่อร้อยสายไฟ ชิ้นส่วนสะพานรถไฟ โครงเสาระบบจ่ายไฟเหนือศีรษะ ชิ้นส่วนรางสาม โครงแคร่ ล้อ เพลาล้อ โบกี้บรรทุกตู้สินค้า (บทต) แท่งห้ามล้อ เป็นต้น  

นอกจากนี้ ศทร. ยังสามารถขยายงานบริการทดสอบไปยังผู้ประกอบการในภูมิภาคและต่างประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เวียดนาม เมียนมาร์ มาเลเซีย สิงคโปร์  รวมทั้งยังดำเนินงานในด้านการยกร่างมาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานรถโบกี้บรรทุกตู่สินค้า (บทต) ให้แก่ กรมการขนส่งทางราง  ร่างมาตรฐานแผ่นยางพาราคลอบกำแพงคอนกรีตให้แก่ กรมทางหลวงชนบท   รวมทั้งพัฒนาการทดสอบประเมินสมรรถนะการชนของรถบรรทุกขนาด 2 ตัน ได้สำเร็จในประเทศ ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณในการส่ง แผ่นยางพาราคลอบกำแพงคอนกรีต ไปทดสอบที่ประเทศเกาหลีได้ (ค่าทดสอบลดลงมากกว่า 5 เท่า)  ตลอดจนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนให้นโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในอุปกรณ์ความปลอดภัยทางถนน สามารถเดินไปสู่นโยบายการผลิตได้ เพราะมีหน่วยงาน วว. ทดสอบรับรองได้ในประเทศ

ดร.อาณัติ  หาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) วว.  กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางในการเตรียมพร้อมการยกระดับยกระดับห้องปฏิบัติการของ ศทร. ว่า ขณะนี้ได้เตรียมแผนในการให้บริการทดสอบด้านระบบขนส่งทางราง อาทิ บริการทดสอบและพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบ และตรวจสอบระบบรางระดับสากล ครอบคลุมรถไฟทุกระบบทั้งความเร็วปานกลางและความเร็วสูง  การร่วมกับบริษัทเอกชน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนผลิตในประเทศ หรือ local content  การยกร่างมาตรฐานให้แก่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ  ตลอดจนการดำเนินงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เช่น ระบบเฝ้าระวังน้ำหนักบรรทุกรถไฟ  รวมทั้งส่งเสริมการใช้ยางพาราในงานราง เช่น Fastener , Under Sleeper Pad เป็นต้น 
 
“....วว. พร้อมใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยผลิตและส่งออกสินค้าในภูมิภาค สนับสนุนการพัฒนาโลจิสติกส์ประสิทธิภาพสูง สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้ประเทศไทย...”  ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุปในตอนท้าย