Micro Precision แตกไลน์สู่ ‘เครื่องมือแพทย์’ อุตสาหกรรมใหม่ประเทศไทย

Micro Precision เบนเข็ม มุ่งชิ้นส่วน ‘เครื่องมือแพทย์’ อุตสาหกรรมใหม่ประเทศไทย

อัปเดตล่าสุด 24 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 928 Reads   

นาทีนี้ หากรออุตสาหกรรมที่ป้อนงานให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมายาวนาน อย่างยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง อาจทำให้หลายบริษัทต้องปิดกิจการเสียก่อน ด้วยความจริงเช่นนี้ Micro Precision จึงเบนเข็มทิศ มองหาโอกาสใหม่ใน “อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์”

คุณวรุตม์ รวยสว่างบุญ CEO บริษัท ไมโคร ปรีซิชั่น จำกัด (Micro Precision Co., Ltd.) ผู้ผลิตแม่พิมพ์และฉีดขึ้นรูปอะลูมิเนียมคุณภาพสูง เป็นอีกรายที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อจากลูกค้าหายไปมากกว่า 60%  อย่างไรก็ตาม ด้วยการทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด ทำให้เห็นสภาพตลาดในกลุ่มยานยนต์ที่ไม่มีการเติบโตในช่วงหลายปีหลัง กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากไทย กอปรกับการแข่งขันที่ดุดันเข้มข้น โดยเฉพาะการสูญเสียตลาดบางส่วนให้แก่จีนที่เสนองานในราคาที่ถูกกว่าและส่งมอบงานได้เร็ว ในขณะที่ตลาดชิ้นส่วนคุณภาพปานกลางได้ตกไปอยู่กับผู้ผลิตในประเทศอาเซียนด้วยกันซึ่งยังมีต้นทุนค่าแรงต่ำกว่าไทย  ความท้าทายเหล่านี้ได้สร้างแรงผลักดันให้บริษัทฯ ต้องมองหาทางเลือกใหม่ที่จะนำพาให้ธุรกิจของ Micro Precision เดินหน้าต่อไป

 

l แตกไลน์สู่ ‘เครื่องมือแพทย์’ อุตสาหกรรมใหม่ประเทศไทย

ด้วยจุดแข็งของ Micro Precision คือ การผลิตชิ้นส่วนอะลูมิเนียมที่มีความละเอียดสูง โดยเฉพาะงานฉีดขึ้นรูปอะลูมิเนียม (Aluminium Die Casting) ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากทรัพยากรที่มี คือ องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของบุคลากร ผนวกเข้ากับเครื่องจักรกลที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง และเครื่องมือวัดความละเอียดสูง ทำให้บริษัทฯ ใช้จุดแข็งนี้ในการเข้าตลาดเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของประเทศไทย จึงมีโอกาสเติบโตอีกมาก

หลังจากที่บริษัทฯ ได้ทุ่มเทและพยายามเข้าตลาดนี้ จนได้รับคำสั่งซื้อจากบริษัทญี่ปุ่นรายหนึ่ง จึงเป็นจุดเริ่มต้นอย่างแท้จริงสำหรับธุรกิจใหม่ สู่ไลน์การผลิตชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ และทำให้พบว่า

“ ข้อดีของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ต่อผู้ผลิตชิ้นส่วน 
คือ ระยะเวลาของสัญญาในการสั่งผลิตจะเป็นสัญญาระยะยาวถึง 10 ปี 
ทำให้ผู้ผลิตมั่นใจ กล้าลงทุน และสามารถวางแผนการดำเนินงานระยะยาวได้ ”

 

l ใช้ ‘หุ่นยนต์ทำงานแทน’ แก้ ‘ปัญหาค่าแรงเพิ่ม’

ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้ยอดสั่งซื้อจากลูกค้าหายไปกว่า 60% ทำให้บริษัทฯ ต้องลดวันทำงานลงจาก 6 วันต่อสัปดาห์ เหลือเพียง 3 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้ ทางบริษัทอาจจำเป็นต้องปรับอัตราส่วนของลูกค้าในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับแนวโน้มตลาด โดยจะลดลูกค้ากลุ่มยานยนต์ลง และมุ่งสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มากยิ่งขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีการผลิตมาใช้เพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมด้านคุณภาพ และบริหารต้นทุนให้บริษัทฯ สามารถแข่งขันได้

คุณวรุตม์แสดงความเห็นว่า “จากวิกฤตในครั้งนี้ ทำให้หลาย ๆ องค์กรได้เห็นชัดเจนถึงความท้าทายของธุรกิจภาคการผลิตนั่นคือ การควบคุมต้นทุนค่าแรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักที่สำคัญ เมื่อสายการผลิตเปิดเพียง 3 วันต่อสัปดาห์ แต่บริษัทฯ ยังต้องจ่ายค่าแรงเต็มเดือน  โดยปัญหาค่าแรงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับผู้ผลิตไทยมานาน ซึ่งภาคเอกชนไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่ควร ทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ทาง Micro Precision จึงมีแนวโน้มที่จะเร่งการลงทุนเพิ่มเติมในการติดตั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดจำนวนแรงงานในสายการผลิต ทำให้บริษัทฯ สามารถควบคุมต้นทุนได้เหมาะสมกับสภาวการณ์ได้”

 

สำหรับผู้สนใจสอบถามรายละเอียด คลิก

อ่านต่อ