ผลกระทบจากโควิด ต่ออุตฯ ยานยนต์ นักวิเคราะห์มองอย่างไร

อัปเดตล่าสุด 8 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 538 Reads   

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ลุกลามไปทั่วโลกในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงยานยนต์ ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ในฐานะสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ และเรายังเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 13 และเป็นผู้ผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลกและใหญ่ที่สุดในอาเซียน  โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ประกาศปรับลดเป้าผลิตรถยนต์ในปี 2563 เหลือเพียง 1.9 ล้านคัน เป็นอีกหนึ่งตัวสะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น  

ในระดับโลกแล้ว อุตสาหกรรมยานยนต์ยังเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นกัน ในแต่ละปี มีการผลิตรถยนต์และรถบรรทุกกว่า 60 ล้านคัน และรถเหล่านี้ยังเป็นผู้บริโภคน้ำมันเกือบครึ่งหนึ่งของโลกอีกด้วย จากห่วงโซ่การผลิตและซัพพลายเชนทั้งหมดที่เกื้อหนุนกันเป็นวงใหญ่ จึงมีเม็ดเงินลงทุนมหาศาล สร้างรายได้และเกิดการจ้างงานจำนวนมาก ทางสำนักวิเคราะห์ Boston Consulting Group (BCG) ได้ออกรายงานคาดการณ์ในทิศทางเดียวกันกับการปรับลดเป้าผลิตรถยนต์ของไทย ซึ่งประเมินว่า ยอดขายยานยนต์ใหม่ทั่วโลกจะลดลงอย่างน้อย 20% และอาจลดลงมากถึง 40% ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมอัปเดตสถานการณ์ยานยนต์ในสามตลาดหลัก

l ความเป็นไปได้ 4 กรณี จากการควบคุมโรคระบาดโควิด-19

1. มาตรการควบคุมโรค ได้ผลดี

ในกรณีดีที่สุด คือมาตรการควบคุมโรคที่รวดเร็ว ได้ผลดี จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการทางการเงินที่เข้มแข็ง จะทำให้จำนวนธุรกิจล้มละลายและอัตราการตกงานต่ำ รัฐบาลสามารถอัดฉีดงบสนับสนุนเพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัวโดยเร็ว ค่ายรถสามารถผลิตต่อตามยอดสั่งซื้อคงค้าง ยอดขายยานยนต์ใหม่ทั่วโลกจะหดตัว 10% ในปีนี้ และจะใช้เวลาประมาณ 3 - 9 เดือนในการฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติ

2. มาตรการควบคุมโรค ล่าช้า หรือ ล้มเหลว

ความเป็นไปได้กรณีถัดมา คือมาตรการควบคุมโรคที่ล่าช้า หรือไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค ในกรณีนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะลดลงเป็นอย่างมาก ผู้บริโภคจะประหยัดเงินมากขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง ซึ่งในกรณีนี้ การสนับสนุนจากภาครัฐจะมีความจำเป็นมากขึ้นจากเดิม ในขณะที่ยอดขายยานยนต์ทั่วโลกจะหดตัวลง 16% ในปีนี้ และใช้เวลาประมาณ 6 - 18 เดือนจึงจะกลับสู่สภาวะปกติ

3. โรคกลายพันธุ์ หรือ ไม่สามารถควบคุมโรคได้

หากมีการกลายพันธุ์ของโรค หรือ ไม่สามารถควบคุมโรคได้จนถึงปี 2021 รวมถึงมาตรการล็อคดาวน์ที่ล้มเหลว จะทำให้เศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมหยุดชะงักเป็นเวลานาน สถาบันการเงินจะได้รับผลกระทบรุนแรง ผู้บริโภคจะเสียความเชื่อมั่น ทำให้ยอดขายยานยนต์ใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกออเดอร์เดิม ยอดขายยานยนต์ทั่วโลกจะหดตัว 22% ในปีนี้ และใช้เวลา 9 - 24 เดือนจึงจะกลับสู่สภาวะปกติ

4. เกิดการระบาดใหม่อีกครั้ง

กรณีร้ายแรงที่สุด คือการป้องกันโรคล้มเหลวและเกิดการระบาดใหม่อีกครั้ง จะทำให้การลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนหยุดชะงัก โชว์รูมรถจะเริ่มปิดตัว ตามด้วยผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์จะล้มละลาย ส่วนผู้ผลิตที่ยังดำเนินธุรกิจต่อจะประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนจากการหยุดชะงักของซัพพลายเชน ซึ่งในกรณีนี้ ยอดขายยานยนต์ทั่วโลกจะหดตัว 38% และส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะชะลอตัวตามไปด้วย โดยคาดว่าจะใช้เวลา 12-24 เดือน หรือมากกว่านั้นในการฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติ

BCG คาดการณ์ว่า แนวโน้มที่เป็นไปได้มากที่สุดคือข้อ 2 และข้อ 3 และประมาณการหดตัวของยอดขายยานยนต์ทั่วโลกไว้ที่ 20-40% 

 

l อัปเดตสถานการณ์ล่าสุดในสามตลาดหลัก

สหรัฐอเมริกา

นับตั้งแต่เริ่มการระบาด และประกาศปิดโรงานในกลางเดือนมีนาคม ยอดขายยานยนต์ของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม 2020 ลดลงถึง 39% ในเวลาไม่ถึงเดือน อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ก่อนหน้าการระบาด ยอดขายยานยนต์ยังคงเป็นปกติ ทำให้ไม่แน่ชัดว่าตลาดยานยนต์สหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่สำนักวิเคราะห์ต่าง ๆ เช่น BCG, Counterpoint Technology Market Research, และ Canalys เห็นพ้องกันว่า ตลาดยานยนต์สหรัฐฯ จะชะลอตัวอย่างน้อยถึงกลางปี และจะเป็นตลาดที่ยอดขายยานยนต์ลดลงต่ำสุดในปีนี้ ซึ่งสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น อาจทำให้โรงงานยานยนต์ในสหรัฐฯ ต้องยืดระยะเวลาหยุดการผลิตออกไปอีก โดยบริษัทที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ General Motors ซึ่งประกาศเลื่อนการเปิดตัวยานยนต์โมเดลใหม่ถึง 6 รุ่นออกไปเป็นปี 2022

จีน

เนื่องจากเป็นประเทศแรกที่เกิดการระบาด ทำให้จีนควบคุมสถานการณ์ได้ก่อนประเทศอื่น และเริ่มกลับสู่การผลิตแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตในจีนรายงานว่าชิ้นส่วนยานยนต์ไม่เพียงพอต่อการผลิต เนื่องจากซัพพลายเชนที่หยุดชะงัก โดย Honda รายงานว่าหลายบริษัทต้องทำงานล่วงเวลาชดเชยกับยอดผลิตที่ลดลงในต้นปี ในขณะที่ China Association of Automobile Manufacturers รายงานว่า รัฐบาลจีนประกาศกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ ด้วยการออกเงินสนับสนุนสูงสุด 1,400 ดอลลาร์สหรัฐให้กับผู้ซื้อยานยนต์ใหม่ และนโยบายงดเว้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าตลาดจีนจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว 

ยุโรป

เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีการระบาดรุนแรง ทำให้ยอดขายยานยนต์ลดลงในหลายประเทศ โดยเยอรมนีลดลง 40% อังกฤษลดลง 45% ในขณะที่สเปนและฝรั่งเศสลดลง 70% ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนแต่เป็นตลาดยานยนต์หลักของยุโรปทั้งสิ้น โดย European Automobile Manufacturers Association รายงานว่า ปัจจุบัน โรงงานในยุโรปมีการทำงานเฉลี่ยเหลือเพียง 18 วันต่อเดือนเท่านั้น ทำให้กำลังการผลิตยานยนต์ลดลงจากปกติถึง 1.5 ล้านคัน และมีการเรียกร้องจากค่ายรถให้สหภาพยุโรปผ่อนปรนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และยานยนต์ไฟฟ้าออกไปก่อน