วว.จัดงานสัมมนา “การขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบ New Normal” วันที่ 22 กันยายน 2563

วว. ชี้ เทคโนโลยีแบบ New Normal หนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

อัปเดตล่าสุด 23 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 402 Reads   

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.)  กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  จัดสัมมนา “การขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบ New Normal” ในวันที่ 22 กันยายน 2563 เพื่อสนับสนุนการใช้ระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่อย่างปลอดภัย  ระดมผู้เชี่ยวชาญแลกเปลี่ยนความรู้ ชี้แนะแนวทางเกี่ยวกับการฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย รวมทั้งความปลอดภัยในการขนส่งสินค้า/วัตถุอันตราย สร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า

 
รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม  กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ ถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และระบบโลจิสติกส์ต่างก็ได้รับผลกระทบ ภาคการขนส่งมีความล่าช้าจากการจำกัดการเข้าออกในหลายพื้นที่ ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการต่อยอดธุรกิจเพื่อขยายโอกาสและก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งนี้โครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน รวมถึงการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับเพื่อควบคุมและป้องกันการสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าและวัตถุอันตราย ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการใช้ระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่อย่างปลอดภัย ได้รับทราบถึงทิศทางของการพัฒนาโลจิสติกส์ไทย ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และสร้างความได้เปรียบทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทย
 

ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า "วว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในยุค new normal จึงได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลทั้งที่เป็นภาพรวมและเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าอันตรายเพื่อให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลที่ได้รับนี้จัดลำดับความสำคัญของปัญหา เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการจัดการความเสี่ยงและการประเมินความเสี่ยงในอนาคต" พร้อมให้ข้อมูลและบริการของวว. ที่จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ

 
ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสําคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเตรียมความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีความเข้มแข็ง เอื้ออํานวยต่อการบรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาในทุก ๆ ด้านของประเทศ ทั้งนี้จากการดําเนินการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศของสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development : IMD) ทั้งในภาพรวมและรายปัจจัยตัวชี้วัดของการพัฒนาโดยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในปัจจัยตัวชี้วัดดังกล่าว โดย IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมของประเทศไทยในปี 2562 เป็นอันดับที่ 25 จาก 63 เขตเศรษฐกิจ ดีขึ้นจากอันดับที่ 30 ในปี 2561 ขณะที่อันดับคุณภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้นจากอันดับที่ 31 มาเป็นอันดับที่ 27 ในปี 2562 ผลจากการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมของประเทศเชื่อมโยงระบบรถ-ราง-เรือ รวมถึงมีการบริหารจัดการการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 จะมุ่งเน้นการขยายขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจหลัก สนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคและภูมิภาคอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกกลุ่มในสังคมสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน และพัฒนาระบบการบริหารจัดการและการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่อนาคตการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable  Development  Goals  :  SDGs) พร้อมสนับสนุนการปรับโครงสร้างประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0
 
จากวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด คาดว่าจะกระทบต่อธุรกิจโลจิสติกส์ปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวลงมากถึง 30-40% ขณะที่การขนส่งหลายประเภทอยู่ในภาวะหดตัว แต่การขนส่งพัสดุ การขนส่งสินค้าถึงบ้านหรือเดลิเวอรี่ต่าง ๆ กลับมีการเติบโตสูงมากสวนกระแสตลาดโดยรวม เนื่องจากห้างร้านปิดให้บริการและการที่ประชาชนอยู่บ้าน ทำให้ใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและบริการส่งตรงถึงบ้าน ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องตระหนักเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงหรือเรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ นั่นคือ “บริหารต้นทุนให้ต่ำ ทำให้เร็วกว่าเดิม เพิ่มการลงทุนเทคโนโลยี”
 
สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงคือ ความปลอดภัย ความเร็วในการจัดส่งสินค้า การส่งมอบสินค้าตรงเวลา สินค้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พนักงานให้บริการอย่างมืออาชีพ เพื่อให้ผู้รับสินค้ามีความพึงพอใจ ขณะที่ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ไทยที่กำลังเติบโตท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด ได้เร่งปรับตัว นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารงานมากขึ้น การแข่งขันจึงไม่ใช่แค่การใช้เทคโนโลยี แต่คือการลงทุนเทคโนโลยีให้ถูกจุด เพื่อครองชัยชนะบนสมรภูมิยุค Digital  Disruption
 
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยถึงศักยภาพและความพร้อมทางด้านห้องปฏิบัติการของวว. ในการให้บริการทดสอบและรับรองชิ้นส่วนในระบบขนส่ง รวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าและวัตถุอันตราย ได้แก่
  • ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของประเทศด้านการทดสอบรับรองคุณภาพระบบขนส่ง ด้านระบบขนส่งที่ครอบคลุมทั้งด้านระบบรางและส่วนเชื่อมต่อกับการขนส่ง  เช่น  รถไฟขนส่งสินค้า รถไฟฟ้าในเมือง รถบรรทุกสินค้า ยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อสนับสนุนด้านความปลอดภัยในการใช้งานระบบขนส่งทางรางและเสริมขีดความสามารถผู้ประกอบการในการทดแทนการนำเข้าชิ้นส่วนระบบราง นอกจากนี้ยังสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านระบบราง รวมถึงให้การฝึกอบรมและส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในส่วนวิศวกรรมระบบราง เช่น วิศวกรและนักศึกษา คณาจารย์รวมถึงผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถไฟ 
  • ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย เป็นหน่วยงานกลางของชาติด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์มาตรฐานที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลระดับนานาชาติ เพื่อช่วยรักษาคุณภาพสินค้า ลดความสูญเสียของสินค้าจากการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออก ตลอดจนส่งเสริมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์ให้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไปเพื่อยกระดับมาตรฐานการบรรจุหีบห่อของประเทศ    
งานสัมมนา “การขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบ New Normal” ครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายหัวข้อ พร้อมชี้แนะแนวทางให้กับผู้ประกอบการไทย อาทิ รศ.ดร. สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา รองอธิการบดีอาวุโสสายงานวิชาการและงานวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บรรยายเรื่อง “ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไทย ด้วยระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่” โดยสรุปว่า  ปัจจุบันและอนาคต ระบบโลจิสติกส์จะยิ่งเติบโต  เพื่อลดต้นทุนการผลิต สนองตอบความต้องการของผู้บริโภค  จะมีการใช้สมองทำงาน มีการใช้ระบบไอทีมากกว่าการใช้แรงงานกำลังบุคลากร  ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์  นอกจากนี้ระบบดาต้า ฐานข้อมูลต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมการใช้ของผู้บริโภค มีความจำเป็นและจะมีบทบาทสำคัญที่เชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์มากขึ้นในลักษณะ “ขาย” และ “ขน”  ทำให้ธุรกิจออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง 
 
หัวข้อเสวนาเรื่อง “ความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าและวัตถุอันตราย” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายฐากูร สิทธิบุศย์  หัวหน้ากลุ่มตรวจท่า สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า, นายอมฤทธิ์  ปั้นศิริ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย, นายรังสรรค์  โพธิสิทธิพร หัวหน้าวิศวกร บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จ้ากัด, นายชลัช  วงศ์สงวน Sustainability Solution Business Director SCG Logistics Management Co., Ltd., และนายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) อีกด้วย