FTA ไทย CPTPP

FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP

อัปเดตล่าสุด 16 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 33,021 Reads   

ปัจจุบันไทยมี FTA รวมทั้งหมด 13 ฉบับ และมีความสนใจเข้าร่วม CPTPP ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีสมัยใหม่ที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น และครอบคลุมไปยังประเทศที่ไทยยังไม่เปิดการค้าเสรี

FTA คือ ข้อตกลงทางการค้าเสรีระหว่างประเทศ หรือหลายประเทศ เพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกันให้เป็น 0 หรือเหลือน้อยที่สุด และเพิ่มภาษีกับประเทศนอกข้อตกลง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกมีต้นทุนลดลง และมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดปลายทางนั้น ๆ สูงขึ้น และในขณะเดียวกัน การนำเข้าสินค้าและบริการจากประเทศคู่ค้าก็จะเสียภาษีถูกลง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงจากเดิม นำมาซึ่งผลประโยชน์ของผู้บริโภค

 

♦ ปัจจุบัน ประเทศไทยมี FTA รวมทั้งหมด 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่

และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 5 ฉบับ ซึ่งคาดว่าจะมีข่าวดีในปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม CPTPP ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ด้วยวาระการเข้าร่วมเจรจากับกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลง CPTPP จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ โดยปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศภาคี ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงค์โปร์ และเวียดนาม 

 

♦ ไทยมีจำนวนประเทศคู่ค้า FTA เพียง 18 ประเทศ 

ภายในงานเสวนา “ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และ ประสบการณ์จากประเทศภาคี” ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมานี้ นอกจากการถกเถียงทั้งข้อดีและข้อเสียของการเข้าร่วม CPTPP จาก 3 ประเทศสมาชิกแล้ว ยังมีการสร้างความเข้าใจถึง CPTPP ที่มากขึ้น 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แสดงความเห็นว่า หากมีการทำ FTA สินค้าส่งออกไทยก็จะได้แต้มต่อ สามารถเข้าไปทำตลาดได้โดยง่าย ซึ่งปัจจุบัน สินค้าส่งออกไทยถึง 99% ที่ส่งออกไปยังอาเซียน จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ล้วนแล้วแต่มี FTA จึงไม่ถูกเก็บภาษี

“FTA เปรียบเสมือนไฟเขียว เป็นแต้มต่อสำหรับสินค้าส่งออกไทยซึ่งจ่อรอเข้าประเทศเป้าหมาย”

สำหรับประเทศไทยแล้ว FTA ฉบับที่ผ่าน ๆ มาคือข้อตกลงการค้าเสรีแบบดั้งเดิม โดยเน้นการเปิดเสรีสินค้า บริการ และการลงทุน ซึ่งแม้จะมีประเด็นด้านกฎระเบียบ แต่ก็เป็นระเบียบที่คุ้นเคยจากองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ประโยชน์ที่ไทยได้นับตั้งแต่วันบังคับใช้ คือ การเติบโตการส่งออกที่เติบโตสูงขึ้น ตั้งแต่ 120.87% กับออสเตรเลีย ไปจนถึง 291.3% กับจีน ในขณะที่อัตราการส่งออกกับประเทศที่ไม่มีการบรรลุข้อตกลงมีการเติบโตไม่ถึง 100% ในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น สินค้าส่งออกไทยไปยังสหภาพยุโรป เติบโต 72% และสหรัฐ เติบโต 89%

นอกจากนี้ หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ จะพบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนการค้ากับประเทศที่เปิด FTA น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ หลายประเทศ และมีจำนวนประเทศคู่ค้า FTA ที่น้อยกว่าประเทศอื่นอยู่อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเวียดนาม ซึ่งมี FTA จำนวน 13 ฉบับเท่าประเทศไทย แต่มีจำนวนคู่ค้ารวม 53 ประเทศ  ซึ่งเป็นผลจากการบรรลุข้อตกลงกับสหภาพยุโรป, CPTPP, และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EaEU) ซึ่งมีรัสเซียเป็นหัวหอก

FTA ไทย


♦ CPTPP คือ FTA สมัยใหม่

กระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นว่า การทำ FTA เพื่อให้สินค้าส่งออกอีกราว 40% สามารถเข้าแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเติบโตของสินค้าส่งออกไทยในตลาดเดิมยังคงมีข้อจำกัดอยู่ อีกทั้งการแข่งขันมีความรุนแรงยิ่งขึ้น การหาตลาดใหม่จึงเป็นส่วนช่วยในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ทำให้ CPTPP เป็นอีกหนึ่งในเวทีที่รัฐบาลไทยให้ความสนใจ

CPTPP: Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค

ประเด็นร้อนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อแนวยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ โดยในปี 2019 ไทยมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศราว 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 62.8% ของมูลค่าทั้งหมด หรือราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจาก 18 ประเทศที่ไทยมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA: Free Trade Area) 

สิ่งที่ทำให้ CPTPP ต่างกับ FTA ที่ผ่านมา คือ ข้อตกลงนี้ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีสมัยใหม่ มีความก้าวหน้ามากขึ้น และครอบคลุมไปยังประเทศที่ไทยยังไม่เปิดการค้าเสรีอย่างเม็กซิโก และแคนาดา นอกจากนี้ยังมีเวทีอื่น ๆ ที่ไทยให้ความสนใจ เช่น สหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการค้ากับไทยสูงเกือบ 10%, อังกฤษ, และสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดใหญ่อีกราว 10% 

นอกจากการให้ความสำคัญกับการค้าขายสินค้า บริการ และการลงทุนแล้ว CPTPP คือการให้ความสำคัญกับกฎระเบียบอื่น ๆ เช่น การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ, การเข้าเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ UPOV 1991, มาตรฐานแรงงาน เช่น การให้เสรีภาพในการเจรจา, และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่ง FTA สมัยใหม่แทบทุกฉบับมีการให้ความสำคัญในประเด็นนี้เป็นอย่างมาก โดยไม่จำกัดแต่เพียง CPTPP เท่านั้น ซึ่งหากประเทศไทยปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลมากขึ้นตามไปด้วย

นางอรมนแสดงความเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล และยังไม่สรุปว่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP หรือไม่ และมีการตั้งคณะกรรมการสำหรับถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ ซึ่งหากพบว่าไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วมเป็นสมาชิกจริง ก็จะสามารถนำแนวทางที่ได้มาใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอให้ไทยเป็น Seed Hub หรือศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชอาเซียน ซึ่งหากได้ผลดี ก็จะเป็นที่มาซึ่งคำถามว่า ไทยยังจำเป็นต้องเข้าร่วมหรือไม่ หรือถ้าเข้าร่วมแล้ว จะรับผิดชอบเกษตรกรอย่างไร หรือถ้าจะเป็น Medical Hub ไทยจะทำอย่างไรกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดซื้อจัดจ้าง

อีกประเด็นคือ การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ FTA ทั้ง CPTPP และประเทศอื่น ๆ จะต้องเตรียมอย่างไร โดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบทางลบ และต้องการได้รับการเยียวยา ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยจัดตั้งกองทุน FTA โดยใช้งบประมาณรายปี อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วกองทุนนี้ได้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วยการอบรม หรือช่วยเหลือในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่เงิน ซึ่งไม่ตรงวัตถุประสงค์ของผู้ต้องการความช่วยเหลือ และเป็นสิ่งที่ต้องหาทางออกกันต่อไป

#FTA ไทย #CPTPP #FTA #ไทยทำ FTA กับประเทศอะไรบ้าง #Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership #ไทย #Thai FTA #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม #นำเข้า #ส่งออกไทย

อ่านต่อ