สหรัฐฯ ลงทุนหุ่นยนต์เพิ่ม แต่ผลิตภาพหด เพราะอะไร?

สหรัฐฯ ลงทุนหุ่นยนต์เพิ่ม แต่ผลิตภาพหด เพราะอะไร?

อัปเดตล่าสุด 5 ก.ย. 2565
  • Share :
  • 1,403 Reads   

บริษัทในอเมริกาเหนือมีการลงทุนหุ่นยนต์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ผลิตภาพกลับลดลง มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2022 รอยเตอร์รายงานว่า บริษัทในอเมริกาเหนือมีการลงทุนหุ่นยนต์ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพื่อใหัสายการผลิตของโรงงานและคลังสินค้าสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นเมื่อเผชิญกับตลาดแรงงานที่ตึงตัวและค่าชดเชยแรงงานที่พุ่งสูงขึ้น

ข้อมูลจากสมาคมเพื่อความก้าวหน้าของออโตเมชั่น หรือ A3 (Association for Advancing Automation) สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ในไตรมาสสองที่ผ่านมา อเมริกาเหนือมีการสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 12,305 ตัว เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งเมื่อรวมกับยอดสั่งซื้อในไตรมาสแรกแล้ว ทำให้อเมริกาเหนือมีการสั่งซื้อหุ่นยนต์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

หลายสื่อระบุยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของอเมริกาเหนือได้ทำลายสถิติต่อเนื่องมาแล้ว 3 ไตรมาส

Advertisement

นาย Jeff Burnstein ประธานสมาคม A3 กล่าวว่า “เมื่อผู้ผลิตต้องการผลิตสินค้ามากขึ้น ทำให้ความต้องการออโตเมชันเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

สิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้บริษัทต่าง ๆ มีการลงทุนหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นเป็นผลจากตลาดแรงงานที่ตึงตัวในปัจจุบัน ด้วยตำแหน่งงานที่เปิดรับเกือบ 2 ตำแหน่งสำหรับผู้ว่างงานหนึ่งคน นายจ้างจึงเสนอขึ้นค่าแรงซึ่งครอบคลุมค่าจ้างและผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น 5.1% ในไตรมาสสอง โดยเป็นการปรับขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 ที่กระทรวงแรงงานเก็บสถิติไว้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ผลิตภาพ (Productivity) ของสหรัฐอเมริกาในไตรมาสสองของปีนี้กลับลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มเก็บสถิติเมื่อปี 1948

หนึ่งในสาเหตุที่เป็นไปได้คือผลกระทบจากการระบาดของโควิด วิกฤตครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภาคแรงงาน รวมถึงการอพยพของคนงานในช่วงที่วิกฤตที่สุด ก่อนจะทยอยกลับเข้ามาสู่การทำงานอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่คนงานจะมีประสิทธิผลน้อยลงหากพวกเขาย้ายไปประกอบอาชีพใหม่หรือเปลี่ยนงานในสายอาชีพที่เคยทำ

นอกจากนี้ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นล่าสุดส่วนใหญ่มาจากภาคบริการที่มีประสิทธิผลต่ำอย่างเช่นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งยังไม่มีการลงทุนหุ่นยนต์ให้เห็นมากนัก

 

นาย Jeff Burnstein ประธานสมาคม A3 กล่าวเสริมว่า การปรับใช้เครื่องจักรใหม่ได้อย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มศักยภาพสูงสุด จำเป็นต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น การเข้าสู่ยุคอีวีของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งพบว่าเกือบ 60% ของยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในไตรมาสสองมาจากผู้ผลิตยานยนต์

นาย Mike Cicco CEO บริษัท FANUC America มีความเห็นใกล้เคียงกัน ประเมินว่าครึ่งหนึ่งของยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาจากผู้ผลิตยานยนต์ที่กำลังเร่งเดินหน้าก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมองว่าแนวโน้มการลงทุนนี้จะยังอยู่ต่อเนื่องไปอีกหลายปี จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่ายอดสั่งซื้อหุ่นยนต์จะยังไม่สะท้อนผลลัพธ์ด้านผลิตภาพออกมาให้เห็น

 

 

#อเมริกา #สหรัฐ #ลงทุนหุ่นยนต์ #ออโตเมชัน #automation #productivity #ขาดแคลนแรงงาน #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH