แนวโน้มและความเสี่ยง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2021-2022 แนวโน้ม ความเสี่ยง และ Metaverse

อัปเดตล่าสุด 30 พ.ย. 2564
  • Share :
  • 2,210 Reads   

ท่ามกลางวิกฤตชิปขาดตลาด กระหน่ำด้วยการกักตุนชิ้นส่วนในตลาดสมาร์ทโฟนจีน เมื่อรวมกับ Metaverse ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างไร ติดตามในบทความนี้

Advertisement

ผลสำรวจบริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (TSE) จำนวน 48 บริษัท จากทั้งหมด 50 บริษัท พบว่ามี 32 บริษัทประกาศปรับตัวเลขคาดการณ์รายได้ในปีงบประมาณ 2021 ให้สูงขึ้นจากเดิม สืบเนื่องจากความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่พุ่งสูง

โดยเฉพาะความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2021 และมีหลายบริษัทคาดการณ์ว่า ปี 2021 จะเป็นปีงบประมาณที่มีรายได้สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา

ชิปขาดตลาด - กักตุนชิ้นส่วน 

ในช่วงเดือนเมษายน - กันยายน 2021 ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สามารถผ่านพ้นวิกฤตซัพพลายเชนที่รุนแรงมาได้ เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบมากนักเหมือนเช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ 

โดยจากบริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 50 บริษัท พบว่ามี 47 บริษัทที่มีกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในปีงบประมาณ 2020 ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตชิปขาดตลาดทำให้ลูกค้าหลายรายเร่งสต๊อกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้ยอดออเดอร์พุ่งสูงเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหากสถานการณ์ชิปยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้ทำให้เกิดความกังวลว่าราคาผลิตภัณฑ์จะลดลงหรือไม่ เนื่องจากเมื่อมีผู้กักตุนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมากอาจทำให้ชิ้นส่วนล้นตลาด ส่งผลให้ความต้องการและราคาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลง

Murata Manufacturing รายงานว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2021 ตัวเก็บประจุเซรามิกแบบหลายชั้น (MultiLayer Ceramic Capacitors: MLCC) และตัวเก็บประจุอื่น ๆ มี BB Ratio อยู่ที่ 0.9 จุด ลดลงต่ำกว่า 1 จุดครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส สะท้อนให้เห็นการชะลอตัวของคำสั่งซื้อ ซึ่ง Mr. Tsuneo Murata ประธานบริษัทวิเคราะห์ว่า เป็นผลจากการปริมาณชิ้นส่วนในคลังสินค้าของของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนค่ายจีน

ในอีกด้านหนึ่ง ปัจจัยที่ช่วยให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โตต่อเนื่องคือ 5G ทำให้ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องมีความต้องการในตลาดสูงขึ้น เช่น Crystal Oscillator ซึ่งเป็นอุปกรณ์กำเนิดสัญญาณความถี่

Kyocera เปิดเผยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 ว่า ปัจจุบันผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแทบทุกค่ายหันมาใช้ Crystal Oscillator ขนาดเล็กเป็นชิ้นส่วนกันแล้วทั้งสิ้น และยังคงมีการผลิตอย่างต่อเนื่องแม้ยอดผลิตสมาร์ทโฟนจะลดลงเพราะชิ้นส่วนไม่พอก็ตาม

Ibiden ผู้ผลิตชิป IC และแพ็กเกจเซมิคอนดักเตอร์ รายงานว่า อีกหนึ่งตลาดที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดคือ Data Center ซึ่งมีความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องเซิร์ฟเวอร์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งการระบาดของโควิด และการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงผ่าน 5G มีแต่จะทำให้ตลาดเซมิคอนดักเตอร์สำหรับ Data Center เติบโตได้อย่างมั่นคง

แนวโน้มและความเสี่ยง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ภาพคอนเซ็ปต์อาคารใหม่ที่แล้วเสร็จของ Ibiden

ความไม่แน่นอนของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทคาดการณ์ว่าหลังจากนี้อุตสาหกรรมอิเล็กทคอนิกส์จะเริ่มชะลอตัว โดยยกให้ช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2021 เป็นช่วงพีคที่เกิดจากการเร่งสต๊อกสินค้า จากนั้นยอดออเดอร์ก็จะเริ่มลดลง ซึ่งราว 30% ของผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ในปีงบประมาณนี้ และยกให้เป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง

อีกความเสี่ยงหนึ่งคือทิศทางหลังจากนี้ เนื่องจากปัจจุบันยอดออเดอร์ที่พุ่งสูงในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มาจากอุตสาหกรรมยานยนต์และสมาร์ทโฟน ซึ่งทั้งสองอุตสาหกรรมนี้ยังมีความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัย ซึ่งหากเกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนอื่น ๆ จนไม่สามารถผลิตออกขายได้ ก็จะย่อมกระทบต่อความต้องการชิ้นส่วนอิเล้กทรอนิกส์โดยตรง อีกทั้งหากรถยนต์และสมาร์ทโฟนมีราคาแพงขึ้นตามต้นทุนแล้ว มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลในหลายประเทศคงไม่เพียงพอที่จะจูงใจผู้บริโภคอีกต่อไป

แนวโน้มความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงก็ยังมีความหวัง โดย Takumi Sado หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Daiwa Securities แสดงความเห็นว่าแม้จะพ้นช่วงพีคของความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไป แต่ท้ายสุดการผลิตทั่วโลกก็จำเป้นต้องฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มกลับขึ้นมาได้ โดยเฉพาะจากกลุ่มยานยนต์

โดยปัจจุบัน ค่ายรถหลายค่ายประสบปัญหาชิ้นส่วนไม่พอผลิต เช่น โตโยต้ามียอดผลิตไม่เป็นไปตามเป้า อย่างไรก็ตาม ก็มีรายงานว่าทางโตโยต้ามีแผนเพิ่มกำลังผลิตในญี่ปุ่นในช่วงเดือนธันวาคม 2021 ส่วนค่ายรถค่ายอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูกำลังการผลิตกลับมาเพื่อให้บริษัทเดินหน้าต่อได้ในปี 2022 

นอกจากนี้ 5G ก็ยังเป็นเรื่องใหม่ และมีหลายประเทศที่กำลังจะเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน หรือยังไม่นำ 5G มาใช้ และจะกลายเป็นอีกหนึ่งตลาดที่สำคัญในอนาคต ซึ่ง Daiwa Securities แสดงความเห็นว่าปัญหาคอขวดจากซัพพลายเชนจะยังอยู่กับอุตสาหกรรมการผลิตไปอีกนาน และท้ายสุดผู้ผลิตก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ได้ และคาดการณ์ว่าจะนำมาซึ่งการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคต อีกทั้งยังมีความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อย่างระบบอัตโนมัติอีกด้วย

และอีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามอง คือ อุตสาหกรรม “Metaverse” ซึ่งได้แรงหนุนจากการเติบโตของบล็อคเชนที่ก้าวกระโดด และการประกาศเข้าสู่อุตสาหกรรมของ Facebook ที่เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta เมื่อไม่นานมานี้ 

โดยสาเหตุที่ Metaverse เป็นที่น่าจับตามอง เกิดจากการที่แนวคิดของ Metaverse เป็นการเชื่อมต่อระหว่างโลกจริงและเทคโนโลยี หรือโลกเสมือนเข้าด้วยกัน ซึ่งนั่นหมายถึงความต้องการ Data Center และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก

นอกจากนี้ที่จะลืมไม่ได้ก็คือโควิด ซึ่งยังไม่สิ้นสุดดี และไม่ว่าจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นหรือจะมีการระบาดครั้งใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงจากโควิดที่นำมาซึ่งความต้องการใหม่ ๆ อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ใดเท่านั้น การเตรียมความพร้อมให้บริษัทสามารถตอบรับความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ควรพิจารณา

 

#ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ #Metaverse #Facebook #Data Center #Blockchain #บล็อคเชน #5G #แนวโน้มอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ #ผู้ผลิตชิ้นส่วน #โควิด ผลกระทบ #วิกฤตชิปขาดตลาด #กักตุนชิ้นส่วน #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH