หุ่นยนต์จีน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์

ถอดรหัส “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์จีน”

อัปเดตล่าสุด 21 ก.พ. 2565
  • Share :
  • 1,656 Reads   

ในปี 2015 จีนตั้งเป้าผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 260,000 ตัวในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ทว่าเพียงไตรมาสสามของปี 2021 จีนสามารถพิชิตเป้าหมายนี้ด้วยยอดผลิตหุ่นยนต์ 268,694 ตัว พร้อมก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมต่อแรงงานอันดับ 9 ของโลก

รายงานสถานการณ์ของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศจีน ซึ่งSouth China Morning Post เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีสาระที่น่าสนใจดังนี้

Advertisement

รัฐบาลจีน “ส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ”

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมของจีนมีการเติบโตเป็นอย่างมาก ผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติหลายรายมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในปี 2021

International Robotics and Intelligent Equipment Industry Alliance (IRIEA) หน่วยงายภายใต้การดูแลของรัฐบาลจีนเปิดเผยว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ประเทศจีนมีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้งานอย่างกว้างขวาง

นาย Luo Jun หัวหน้าผู้บริหาร IRIEA แสดงความเห็นว่า หากพิจารณาจากเทคโนโลยีเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติแล้ว จีนมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีด้านนี้อย่างมากจนอาจจะเป็นผู้นำ และมีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้งานในหลายภาคส่วนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

นาย Zhou Ying ผู้บริหาร Hunan Hailian Grain and Oil Technology ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนเครื่องสีข้าว กล่าวว่า ที่แล้วมาจีนนำเข้าเครื่องสีข้าวจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันผลิตในประเทศเอง 100% และมีราคาถูกลงอย่างมาก จากราคาเฉลี่ยที่ 50,000 หยวน หรือราว 7,840 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 เหลือ 30,000 หยวน หรือราว 4,700 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนมาใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศทดแทนการนำเข้า

หนึ่งในปัจจัยกระตุ้นความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติ คือ โควิด-19 เนื่องจากโควิดทำให้ภาคธุรกิจต้องการลดค่าใช้จ่ายลง ซึ่งเมื่อผนวกกับสังคมผู้สูงอายุในจีน ทำให้ความต้องการทดแทนแรงงานเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเป็นการปรับตัวให้สามารถส่งออกได้มากขึ้นอีกด้วย

อีกปัจจัยคือ สงครามการค้า ซึ่งกระตุ้นให้รัฐบาลจีนออกมาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศเพื่อพัฒนาสายการผลิต

เดิมทีในปี 2015 จีนตั้งเป้าผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 260,000 ภายในปี 2025 อย่างไรก็ตาม จีนประสบความสำเร็จเร็วกว่ากำหนด ด้วยยอดผลิตหุ่นยนต์รวม 268,694 ตัว ภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2021 

นอกจากนี้ รายงานล่าสุดจาก International Federation of Robotics (IFR) เมื่อเดือนมกราคม 2022 ยังเปิดเผยว่า จีนมีอัตราส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 246 ตัว ต่อแรงงาน 10,000 คน และอยู่ในอันดับ 9 ของโลก

รัฐบาลจีน “ปูทาง ตั้งเป้า ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อย่างจริงจัง”

ในช่วงปี 2021 - 2025 นี้เองที่รัฐบาลจีนมีแผนผลักดันการใช้ระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมการผลิต ตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมขั้นต่ำไว้ที่ 20% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนี้มาพร้อมอุปสรรคจากการแข่งขันระดับโลกที่รุนแรง และวิกฤตซัพพลายเชน ซึ่งหลายฝ่ายแสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์จีนยังขาดแคลนเทคโนโลยี มีพื้นฐานที่ไม่มั่นคง และยังขาดแคลนซัพพลายเชนชิ้นส่วนคุณภาพสูง

นอกจากนี้ จีนยังตั้งเป้าเปิด Smart Factory ต้นแบบอย่างน้อย 500 โรงงาน และผู้ให้บริการโซลูชัน Smart Factory อย่างน้อย 150 บริษัทภายในปี 2025 อีกด้วย

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics of China) รายงานว่า ในช่วงเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2021 จีนมียอดผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรวมแล้วเพิ่มขึ้น 49% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีโครงการหุ่นยนต์มากถึง 316 โครงการ และมีเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ่นยนต์จีนมากถึง  3.3 หมื่นล้านหยวน หรือราว 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโครงการเหล่านี้ไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมยา คลังสินค้า และภาคบริการอีกด้วย

นาย Luo Jun แสดงความเห็นว่า การพัฒนาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมีความสำคัญต่อจีนเป็นอย่างยิ่ง ช่วยลดความกดดันจากจำนวนแรงงานที่ลดลง แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และรักษาขีดความสามารถในการส่งออกเอาไว้

วารสาร Finance and Trade Economics ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน เปิดเผยว่า จีนตั้งเป้าอัตราส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมไว้ที่ 37 ตัว ต่อแรงงาน 1,000 คน ภายในปี 2050 ซึ่งหากเป็นไปได้จริง จีนจะสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานได้มากกว่าครึ่ง ทดแทนชั่วโมงการทำงานได้ปีละ 100 - 140 ล้านชั่วโมง

เมื่อปี 2018 จีนมีสัดส่วนแรงงานคิดเป็น 71.2% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 814.86 ล้านคน และหากเดินหน้าได้ตามเป้าแล้ว คาดการณ์ว่า ในปี 2050 จีนจะมีสัดส่วนแรงงานคิดเป็น 59.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 993.57 ล้านคน

นอกจากนี้ ความนิยมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในจีนยังเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในเมืองอุตสาหกรรมสำคัญของจีนอย่างตงกว่าน พบว่ามีมากกว่า 3,000 บริษัทที่ลงทุนระบบอัตโนมัติในสายการผลิตในช่วงปี 2016 - 2020 

เว็บไซต์สำนักงานจังหวัดตงกว่านได้หยิบยกตัวอย่างบริษัทอาหารแปรรูปซึ่งเป็นผู้ผลิตขนมจากคาราเมล มีการลงทุนระบบอัตโนมัติมากถึง 30 ล้านหยวน หรือราว 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ทำให้สามารถลดจำนวนแรงงานในบริษัทได้เกือบ 70%

นาย Hu Haifeng ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท Rokae Robotics เปิดเผยว่าการลงทุนออโตเมชั่นเป็นเทรนด์ที่มาแรงในจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ในช่วงโควิดนั้นทำให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นความสำคัญของระบบอัตโนมัติ และมีหลายบริษัทที่ตัดสินใจสั่งซื้อหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นในช่วงหลังมา ส่งผลให้ในปี 2021 บริษัทมียอดขายหุ่นยนต์เติบโตขึ้น 2 เท่าจากปีก่อนหน้า 

การหันมาใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ ช่วยให้บริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤตซัพพลายเชนและปัญหาชิปขาดตลาดน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ชิ้นส่วนบางชนิดยังคงมีประเทศอื่นเป็นเจ้าตลาดอยู่ เช่น อุปกรณ์ควบคุมการส่งกำลังในหุ่นยนต์ ซึ่งจีนมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมากเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น

 

 

โดมิโน่ของอัตราการเกิดที่ลดลง 

อย่างไรก็ตาม นักประชากรศาสตร์หลายรายแสดงความกังวลต่อการแพร่หลายของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติเป็นอย่างมาก เช่น นาย Huang Wenzheng ผู้วิจัยด้านอัตราการเกิดของประชากร ซึ่งแสดงความเห็นว่า ระบบอัตโนมัติช่วยพัฒนาการผลิตและซัพพลายเชนได้จริง แต่แทบไม่แก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุหรือกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้สูงขึ้น

อัตราการเกิดที่ลดลงจะทำให้จีนมีประชากรลดลงในระยะยาว และจะส่งผลให้ GDP ต่อหัวลดลง ความต้องการลงทุนก็จะลดลงตามไป การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ก็จะล่าช้าออกไป จนอาจทำให้โครงสร้างทั้งหมดตกยุคได้ ซึ่งจะทำให้หลายอุตสาหกรรมไร้อนาคต (Sunset industry) หรือได้รับความนิยมลดลงจนเสียเปรียบประเทศอื่น ๆ ในที่สุด 

 

#หุ่นยนต์จีน #อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ #อุตสาหกรรมจีน #หุ่นยนต์อุตสาหกรรม #หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ #ออโตเมชั่น #Automation #Mreport #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH