สิงคโปร์ อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง 2030

สิงคโปร์ ดึงลงทุน “การผลิตขั้นสูง” ล่าเป้าหมาย Manufacturing 2030

อัปเดตล่าสุด 27 ส.ค. 2564
  • Share :
  • 1,613 Reads   

จากวิกฤตชิปขาดตลาดทำให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างคึกคัก และสิงคโปร์ อดีตผู้เล่นอันดับ 3 ของโลกก็พร้อมจะกลับมาทวงบัลลังก์แล้ว

Advertisement

รู้หรือไม่ว่า แม้ปัจจุบันสิงคโปร์จะครองส่วนแบ่งเซมิคอนดักเตอร์อยู่เพียง 11% ของตลาดโลก แต่สิงคโปร์เป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียที่กระโดดเข้าร่วมอุตสาหกรรมนี้ต่อจากไต้หวัน และบริษัท Chartered Semiconductor Manufacturing จากสิงคโปร์ก็เคยติดอันดับ 3 ของผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจนถึงปี 2010 

และเมื่อต้นปี 2021 นี้เอง นายชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ (MTI) ได้ประกาศวิสัยทัศน์ “Manufacturing 2030” เพื่อสร้างสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและแรงงานที่มีความสามารถพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงในระดับโลก โดยตั้งเป้าการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิต 50% ภายในปี 2030 ซึ่งจะคงสัดส่วน 20% ของ GDP หรือมากกว่า

ที่สำคัญ การผลักดันการเติบโตครั้งนี้ไม่เพียงแต่มุ่งไปที่ตัวเลขของมูลค่า แต่ยังรวมถึงคุณภาพที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเหล่านั้นด้วย การทำงานคุณภาพสูงขึ้นโดยใช้กำลังคนน้อยกว่าที่เคยเป็นมา 

ถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดไปได้ สิ่งที่จำเป็นคือเศรษฐกิจที่มีการกระจายความเสี่ยง ไม่พึ่งพาด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ 

ทุกวันนี้ ภาคการผลิตของสิงคโปร์มีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์กปี 2020 จัดให้สิงคโปร์อยู่อันดับที่สองของโลกในด้านการเพิ่มมูลค่าการผลิต นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ส่งออกสินค้ามูลค่าสูงรายใหญ่อันดับสี่ของโลก และเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำในภาคการผลิตต่าง ๆ โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics), ชีวการแพทย์ (Biomedical), และวิศวกรรมพรีซิชั่น (Precision Engineering)

สำหรับการมุ่งสู่เป้าหมาย Singapore Manufacturing 2030 ได้กำหนดกลยุทธ์ไว้ 3 ด้านหลัก ดังนี้

1. ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทแถวหน้าเข้ามาตั้งฐานการผลิตในสิงคโปร์ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและนำไปสู่การผลิตขั้นสูง โดยเฉพาะการลงทุนจากบริษัทชิปเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำ นอกจากนี้ เพื่อรองรับความต้องการด้านนวัตกรรม การเชื่อมต่อ และโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทเหล่านี้ สิงคโปร์จะเสริมสร้างระบบนิเวศที่ช่วยให้บริษัทเหล่านี้สามารถแข่งขันได้มากที่สุด
2. ยกระดับ SMEs ในการผลิตขั้นสูงให้มีความโดดเด่นเฉพาะตัวและมีความสามารถเฉพาะทาง เพื่อเข้าสู่การแข่งขันในเวทีโลกได้  
3. ดึงดูดชาวสิงคโปร์เข้าสู่การผลิตให้มากขึ้นในทุกระดับ ตั้งแต่เด็กรุ่นใหม่โดยผ่านการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา ไปจนถึงการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานในบริษัทต่าง ๆ

ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นหนึ่งในฐานการผลิตของผู้เล่นรายใหญ่ของอุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์อย่าง Micron และ Infineon ไปจนถึง GlobalFoundries ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 4 ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2021 ได้ประกาศขยายกำลังการผลิตในสิงคโปร์ด้วยงบประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทดแทนฐานการผลิตที่ย้ายออกจากจีน ปัจจุบันโรงงาน GlobalFoundries ในสิงคโปร์มีกำลังการผลิตคิดเป็น 40% ของทั้งบริษัท

Tom Caulfield CEO บริษัท GlobalFoundries แสดงความเห็นว่า 70% ของโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดอยู่ในไต้หวันซึ่งห่างจากจีนไม่กี่ร้อยไมล์ และนั่นเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก

นอกจาก GlobalFoundries แล้ว ยังมีอีกหลายรายที่มีแผนเปิดโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ คลิกเลย

สื่อบางรายในไต้หวัน เช่น Taiwan News และ TechTaiwan แสดงความเห็นว่า เป็นไปได้ยากที่สิงคโปร์จะตามทันไต้หวัน เนื่องจากต้องแซงจีนและเกาหลีใต้ที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง ซึ่งสิงคโปร์ต้องมีความก้าวหน้าในการพัฒนาและมีต้นทุนการผลิตต่ำให้ได้เสียก่อน จึงมีความเป็นไปได้อย่างมากว่า สิงคโปร์จะต้องมุ่งไปที่การพัฒนานวัตกรรมแทน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าสิงคโปร์จะไม่มีโอกาสเติบโต เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แนวโน้มการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนกำลังมาแรง โดยเฉพาะวิกฤตชิปขาดตลาดที่ทำให้หลายประเทศปรับเปลี่ยนแนวทางการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น ช่วงเวลานี้จึงอาจเป็นโอกาสให้สิงคโปร์ก้าวหน้าในอุตสาหกรรมนี้ก็เป็นได้

อ่านต่อ

 

#สิงคโปร์ ลงทุน #สิงคโปร์ อุตสาหกรรม #Singapore Manufacturing 2030 #การผลิตขั้นสูง #Semiconductor #Electronics #GlobalFoundries #โรงงานผลิตชิปวงจรรวม #อุตสาหกรรมชิปวงจรรวม #สิงคโปร์ #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ #Mreport #M Report #mreportth

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH