สองผู้นำ ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ เปรย สร้างฐานการผลิตชิปใหม่ ลดพึ่งพาไต้หวัน เสี่ยงการเมืองจีน

สองผู้นำ ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ เปรย สร้างฐานการผลิตชิปใหม่ "ลด" พึ่งพาไต้หวัน-เสี่ยงการเมืองจีน

อัปเดตล่าสุด 21 เม.ย. 2564
  • Share :
  • 647 Reads   

♦ นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้พบกันเป็นครั้งแรกที่กรุงวอชิงตัน

♦ ร่วมพูดคุยถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา-จีน สิทธิมนุษยชน โควิด และอื่น ๆ 

♦ สองประเด็นด้านอุตสาหกรรม คือ วิกฤตชิปเซมิคอนดักเตอร์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

Advertisement

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2021นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้พบกันเป็นครั้งแรกที่กรุงวอชิงตัน โดยร่วมพูดคุยถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา-จีน สิทธิมนุษยชน โควิด และอื่น ๆ ซึ่งมีสองประเด็นด้านอุตสาหกรรม คือ วิกฤตชิปเซมิคอนดักเตอร์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย

วิกฤตชิปเซมิคอนดักเตอร์ขาดตลาด

โดยทั้งสองประเทศมีแผนยกระดับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ตลอดจนซัพพลายเชน ซึ่งรวมถึงการซัพพลายแร่ “แรร์เอิร์ท” (Rare-earth) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่รุนแรงในขณะนี้ การประสานความร่วมมือด้านแร่แรร์เอิร์ทจะเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยให้ทั้งสองประเทศลดการพึ่งพาจีนลงได้อีกด้วย

“ปัจจุบันเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศมีความเสี่ยงสูง จากการที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์นั้นพึ่งพาไต้หวันมากเกินไป ซึ่งเมื่อคำนึงถึงความขัดแย้งทางการเมืองในจีนแล้ว จึงเล็งเห็นว่า การสร้างฐานการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ใหม่ จะมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงจากสถานการณ์การเมืองได้”

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดเผยว่า ชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่ขาดตลาดไปทั่วโลกได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ การแข่งขันกับจีนในอุตสาหกรรมไฮเทคในอนาคตจะรุนแรงยิ่งขึ้น สหรัฐอเมริกาจึงมีแผนลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้สหรัฐฯ มีความพร้อมต่อสงครามการค้ามากยิ่งขึ้น

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในครั้งนี้ โดยการตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งทั้งสองประเทศอยู่ระหว่างพิจารณาการร่วมพัฒนา และสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาด สำหรับงบประมาณสนับสนุนนั้น เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศเพิ่มเงินสนับสนุนเป็นมูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ญี่ปุ่นได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 2 ล้านล้านเยน หรือราว 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

“สำหรับแนวทางการผลักดันพลังงานสะอาดจะเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ในภาคอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาสมาร์ทกริด (Smart Grid) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่มีเทคโนโลยีนี้อยู่แล้วเป็นอย่างมาก”

อย่างไรก็ตาม การกระชับความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้ อาจกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์กับจีนย่ำแย่ลง เนื่องจากจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการปล่อยมลพิษทางอากาศในปริมาณมหาศาล การออกมาตรการต่าง ๆ จึงอาจสร้างแรงกดดันต่อจีนในสงครามการค้ามากยิ่งขึ้น

Advertisement

ผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ได้แสดงความเห็นว่าหลังจากนี้ การกระชับความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความเป็นไปได้อย่างมากที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา-จีนจะมีท่าทีเช่นนี้ต่อไปอีก 20 - 30 ปี

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายเปิดเผยว่าแม้จะมีแนวทางการร่วมมือ แตทั้งสองผู้นำยังคงมีความเห็นที่ต่างกันในหลายเรื่อง โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นรายหนึ่งได้เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นยังคงมีความมั่นใจในการเข้าร่วม CPTPP และ RCEP ซึ่งไม่มีสหรัฐฯ เข้าร่วม อีกทั้งญี่ปุ่นยังตัดสินใจไม่เข้าร่วมการกีดกันทางการค้าต่อจีนตามแนวทางของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และแคนาดา ในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงอีกด้วย 

- CPTPP คือ TPP เวอร์ชันใหม่ที่ไม่มีสหรัฐฯ อะไรเปลี่ยนไป?
- เข้าร่วม CPTPP จำเป็นหรือไม่ และ เมื่อไหร่? ทุกการตัดสินใจ ต่างมีผลกรรม

ปัจจุบันญี่ปุ่นพึ่งพาการนำเข้าแร่แรร์เอิร์ธจากจีนอยู่จำนวนมากถึง 60% ของการนำเข้าทั้งหมด ทำให้หากญี่ปุ่นร่วมกีดกันแล้ว อุตสาหกรรมญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง