ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน 2564 วิกฤตตู้คอนเทนเนอร์

ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?

อัปเดตล่าสุด 24 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 11,047 Reads   

ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ถูกยกระดับเป็นวิกฤตโลจิสติกส์ทั่วโลกในปี 2564 ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง และระยะเวลาส่งสินค้าที่ใช้เวลามากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นปัญหาลูกโซ่ไปถึงซัพพลายเชนการผลิต ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปในหลายอุตสาหกรรม สุดท้ายบานปลายถึงราคาสินค้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้น

Advertisement

ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เกิดขึ้นได้อย่างไร?

นับตั้งแต่ช่วงปลายที่แล้ว "ท่าเรือลอสแองเจลิส" ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็น “เกทเวย์” ในการลำเลียงสินค้าไปมาระหว่างสหรัฐอเมริกาและเอเชีย รวมถึงท่าเรือลองบีช (Long Beach) ซึ่งอยู่ข้างเคียงนั้น กำลังตกอยู่ในสภาวะยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีปริมาณการไหลเข้าออกของสินค้าที่พุ่งทะยานสวนทางกับความสามารถในการรองรับของท่าเรือ

Mr. Miyamae Naoyuki นักวิเคราะห์โลจิสติกส์จาก Nomura Research Institute วิเคราะห์ว่า วิกฤตตู้คอนเทนเนอร์เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย โดยมีปัจจัยหลักคือการผลิตตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ที่ลดลง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นกราฟตัว V และปัญหาขาดแคลนแรงงานในท่าเรือ ทำให้การหมุนเวียนตู้สินค้าไม่เป็นไปตามต้องการ และมีตู้สินค้าตกค้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน ตู้คอนเทนเนอร์กว่า 90% ถูกผลิตในประเทศจีน เนื่องจากปัญหาสงครามการค้าในปี 2019 ทำให้สหรัฐอเมริกาลดการผลิตตู้คอนเทนเนอร์ลง 40% และหลายฝ่ายกังวลว่าการส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯ ไปยังจีนจะลดลงมากขึ้น ซึ่งเมื่อย่างเข้าสู่ปี 2020 การระบาดของโควิดทำให้การผลิตตู้สินค้าจากสหรัฐฯ ลดจำนวนลงไปอีก

 

นับตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2020 เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกำลังการผลิตยานยนต์ เครื่องจักรกล และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าทางเรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา

ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม Work From Home และเรียนออนไลน์ ทำให้มีการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากจีนจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณตู้สินค้าที่เข้ามายังท่าเรือลอสแองเจลิสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020

สหพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NRF) รายงานว่า ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2020 (พฤศจิกายน - ธันวาคม) มูลค่าการค้าปลีกในสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 789,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 ถึง 8.3% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดย NRF เปิดเผยว่า ผู้บริโภคหลายรายมีเงินเก็บมากขึ้นจากช่วงล็อคดาวน์ และเมื่อมีมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลร่วมกับโปรโมชันส่งเสริมการขายของห้างร้านต่าง ๆ ในช่วงสิ้นปีแล้ว จึงทำให้เกิดการซื้อสินค้าจำนวนมาก และเป็นส่วนหนึ่งที่หนุนให้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์รุนแรงยิ่งขึ้น

ปัจจัยเหล่านี้เองทำให้ตู้คอนเทนเนอร์จากเอเชียตกค้างอยู่ที่สหรัฐฯ จำนวนมาก และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สืบเนื่องจากมาตรการป้องกันโรค และการระบาดระลอกใหม่ในช่วงต้นปีทำให้ท่าเรือมีแรงงานไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถส่งตู้สินค้ากลับไปยังเอเชียได้ทันความต้องการใช้งาน

Advertisement

 

ตู้สินค้าขาดแคลน กระทบภาคอุตสาหกรรมอย่างไร?

แน่นอนว่าการขาดแคลนตู้สินค้าย่อมส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยในอุตสาหกรรมหลักได้รับผลกระทบ ดังนี้

  • อุตสาหกรรมยานยนต์ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น ซึ่งซัพพลายเออร์ของโตโยต้าหลายรายเปิดเผยว่า การส่งชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังสหรัฐฯ ใช้เวลามากกว่าที่ผ่านมาถึงเท่าตัว ในขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอีกรายแสดงความกังวลต่อฐานการผลิตยานยนต์ที่ต้องใช้ชิ้นส่วนจากต่างประเทศ 
  • อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ประสบปัญหาด้านการจัดส่ง ทำให้ไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ตามกำหนด ซึ่งจะกระทบแผนการผลิตเป็นอย่างมาก อีกทั้งมีต้นทุนการจัดส่งที่แพงขึ้นเป็นอย่างยิ่ง
  • อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ประสบปัญหาต้นทุนสูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ หลายบริษัทจึงจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าบางส่วน เช่น อีพ็อคซี่, เรซิ่น, พลาสติกทนความร้อน, และอื่น ๆ  ซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมที่ต้องใช้สินค้าเหล่านี้ทั้งหมด

ขนส่งสินค้าทางอากาศ โอกาสใหม่ของโลจิสติกส์

อัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2020 ยกตัวอย่างเช่น ค่าระวางเรือจากท่าเรือลอสแองเจลิส มายังทาเรือโยโกฮาม่า ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากเดือนมกราคมปี 2020 ถึง 2 เท่า และแน่นอนว่าในประเทศอื่น ๆ ก็ไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งผู้บริหารบริษัทโลจิสติกส์รายใหญ่จากญี่ปุ่นแสดงความเห็นว่า “อาจจำเป็นต้องพิจารณาเช่าเครื่องบินเหมาลำแทน”

ซึ่งแนวทางเช่นนี้เอง เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตอากาศยาน และสายการบินคาดการณ์ตรงกัน เนื่องจากความต้องการขนส่งสินค้ามีแต่จะเพิ่มขึ้น โดย ANA Holdings รายงานว่าในปีงบประมาณ 2020 รายได้จากการขนส่งสินค้าทางอากาศของบริษัทปิดที่ 1.605 แสนล้านเยน หรือราว 1,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 56.3% จากปีงบประมาณก่อนหน้า ในขณะที่ Japan Airline ปิดที่ 1.288 ล้านเยน หรือราว 1,160  ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 40.6% 

แน่นอนว่าหากอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เปลี่ยนมาใช้การขนส่งสินค้าทางอากาศแทน การส่งสินค้าต่าง ๆ ก็จะรวดเร็วมากขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการสินค้าหลายชนิดได้ดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มี Lead Time สูง และช่วยให้วิกฤตชิปขาดตลาดรุนแรงน้อยลงได้ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่ว่าควรจะหันมาส่งสินค้าทางอากาศแทนดีหรือไม่

ปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือทั่วโลก

กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การ​ขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) รายงานว่า ในช่วงปี 2010 - 2019 ปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางเรือเพิ่มขึ้นรวม 1.4 เท่า โดยมีเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) เป็นภูมิภาคที่มีการใช้งานตู้คอนเทนเนอร์สูงสุด โดยประเทศที่ใช้งานตู้สินค้าจำนวนมากคือจีน และสิงคโปร์

 
 

สรุป

วิกฤตขาดแคลนตู้สินค้าเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย โดยมีปัจจัยหลักคือการผลิตตู้สินค้าใหม่ที่ลดลง, การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นกราฟตัว V, และปัญหาขาดแคลนแรงงานในท่าเรือ ทำให้การหมุนเวียนตู้สินค้าไม่เป็นไปตามต้องการ และมีตู้สินค้าตกค้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนได้ลุกลามเป็นเรื่องใหญ่ ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั่วโลก ซึ่งสินค้าหลายชนิดทั่วโลกได้ปรับขึ้นราคาแล้ว

 

#วิกฤตตู้คอนเทนเนอร์ #ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน 2021 #สถานการณ์ตู้คอนเทนเนอร์ #วิกฤตโควิด 19 ผลกระทบ #ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ #ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน 2564 #ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม

 

อ่านต่อ

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH