หุ่นยนต์อุตสาหกรรม โรบอท ญี่ปุ่น 2022

ญี่ปุ่นจะรักษาตำแหน่ง ‘เจ้าตลาดหุ่นยนต์’ ได้ไหม?

อัปเดตล่าสุด 8 พ.ย. 2565
  • Share :
  • 1,437 Reads   

อาจกล่าวได้ว่า “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศแห่งหุ่นยนต์ ทั้งความคิดสร้างสรรค์และสัดส่วนการผลิต ราว 40% ของหุ่นยนต์ทั่วโลกมาจากสองแบรนด์ดังของญี่ปุ่น แต่ความท้าทายในปัจจุบันทำให้น่าคิดว่า ญี่ปุ่นจะยังรักษาตำแหน่งเจ้าตลาดได้อีกแค่ไหน

รายงานจาก International Federation of Robotics (IFR) ระบุว่า ในปี 2021 ทั่วโลกมีการติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรวม 517,000 ตัว เพิ่มขึ้น 31.2% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเร็วกว่าคาดการณ์เป็นอย่างมาก

เดิมที IFR คาดว่า ทั่วโลกจะมีการติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเกิน 5 แสนตัวในปี 2024 เป็นต้นไป

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม โรบอท ญี่ปุ่น 2022

ตัวเลขนี้บ่งบอกถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ผลิตหุ่นยนต์เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การแข่งขันจากผู้ผลิตนานาประเทศที่นับวันยิ่งรุนแรง เมื่อรวมกับการขาดแคลนผู้ประกอบการด้านบูรณาการระบบอัตโนมัติ (Systerm Integrator) หรือญี่ปุ่นเรียกว่า SIer จนเกิดข้อกังขาว่า ญี่ปุ่นจะยังครองตำแหน่งเจ้าตลาดหุ่นยนต์ได้หรือไม่? 

EV คือลมหนุนการลงทุน

พนักงานระดับสูงของบริษัทหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า ความต้องการหุ่นยนต์จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ภาคอุตสาหกรรมยังมีพื้นที่ให้หุ่นยนต์อีกมาก 

สิ่งที่ยืนยันแนวโน้มนี้ คือ รายงานอัตราส่วนการแทนที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมต่อแรงงาน 10,000 คน หรือ (Robot Density) จาก IFR ระบุในปี 2020 มีอัตราส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอยู่ที่ 126 ตัว ต่อแรงงาน 10,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ถึง 2 เท่า

ปัจจุบันเกาหลีใต้มี Robot Density สูงสุดที่ 932 ตัว ต่อแรงงาน 10,000 คน ตามด้วยสิงคโปร์ที่ 605 ตัว ต่อแรงงาน 10,000 คน ส่วนญี่ปุ่นแม้จะมีผู้ผลิตหุ่นยนต์หลายราย แต่กลับมีอัตราส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอยู่ที่ 390 ตัว ต่อแรงงาน 10,000 คน

จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้แต่อันดับหนึ่งอย่างเกาหลีใต้ ยังมีอัตราส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมไม่ถึง 10% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด และแม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปอัตราส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมควรอยู่ที่เท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม แต่ก็ทำให้เห็นว่า ยังมีพื้นที่ให้หุ่นยนต์อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงการขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม โรบอท ญี่ปุ่น 2022

หนึ่งในลูกค้าสำคัญของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ คือ ยานยนต์ ที่มีการลงทุนอีวีอย่างคึกคึก 

อีกลมหนุนที่กำลังมาแรง คือการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะนำไปสู่การลงทุนมูลค่ามหาศาล

นาย Hiroshi Ogasawara ประธานบริษัท Yaskawa แสดงความเห็นในงานแถลงข่าวผลประกอบการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2022 ว่า “แม้จะตอบได้ยากว่าสัดส่วนรายได้ที่มาจากอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้านั้นอยู่ที่เท่าไหร่ แต่การลงทุนหุ่นยนต์สำหรับผลิตตัวถังและแบตเตอรี่อีวีกำลังเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” และได้เสริมว่าปัจจุบัน การลงทุนอีวีในจีนกำลังคืบหน้าอย่างรวดเร็ว

ในทางกลับกัน ฝ่ายบริหารบริษัทหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรายใหญ่รายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันผู้ผลิตยานยนต์ยังอยู่ในขั้นตอนการค้นหากระบวนการผลิตอีวีที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่สิ่งนี้หมายความว่ากระบวนการผลิตที่ดีที่สุดอาจไม่จำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์เสมอไป อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ความต้องการหุ่นยนต์ก็ยังมีความเป็นไปได้

Advertisement

การแข่งขันในตลาดหุ่นยนต์ที่รุนแรงยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้มีผู้เล่นรายใหม่ในแต่ละตลาดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิต และ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ ‘Optimus’ จาก Tesla ซึ่งใช้เวลาเพียง 1 ปีนับจากวันแรกที่เทสล่าประกาศพัฒนาหุ่นยนต์ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ขีดความสามารถและความรวดเร็วในการพัฒนาหุ่นยนต์ของผู้เล่นรายใหม่เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม โรบอท ญี่ปุ่น 2022

ภาพบรรยากาศผู้เยี่ยมชมงาน “iREX2022”

ไม่ใช่แค่เทสล่าเท่านั้น แต่ทั่วโลกยังมีผู้ผลิตหุ่นยนต์อีกหลายรายจากนานาประเทศ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในญี่ปุ่นเองก็มีการสั่งซื้อโคบอทส์จากจีนเข้ามาใช้ในโรงงาน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดกลางจากจังหวัดไอจิ ซึ่งสั่งซื้อโคบอทส์จากจีนผ่านบริษัท Elite Robot Japan ด้วยเหตุผลที่ว่า โคบอทส์จีนมีราคาถูกกว่า และให้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ญี่ปุ่นมากนัก

ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ญี่ปุ่นแสดงความเห็นว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีแนวโน้มว่าหุ่นยนต์ญี่ปุ่นจะถูกแทนที่ แต่ก็ยอมรับว่าผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกกว่านั้น เมื่อเข้าสู่ตลาดแล้วมักเกิดการดิสรัปต์ แย่งส่วนแบ่งตลาดจากผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูงกว่า ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องจับตาแนวโน้มนี้เอาไว้

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม โรบอท ญี่ปุ่น 2022

DAIHEN Corporation ร่วมกับ SIer รายใหญ่ หวังลุยตลาดต่างประเทศ

นาย Kenji Yamaguchi ประธานสมาคมหุ่นยนต์ญี่ปุ่น (JARA) และประธานบริษัท Fanuc แสดงความเห็นว่า ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ยุโรป และจีนเท่านั้น แต่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศก็เริ่มลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง ทำให้การคาดการณ์ต่าง ๆ เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลายประเทศมีการผลักดันอย่างเข้มข้น เช่น สำนักโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหม (DARPA) ที่มีส่วนในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสหรัฐฯ และนโยบาย Made in China 2025 ที่สนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จีน 

นาย Kenji Yamaguchi เสริมว่า สิ่งที่จำเป็นหลังจากนี้คือการพัฒนาจะไม่ใช่แค่ผู้ผลิตหุ่นยนต์ แต่จะเป็นการวิจัยและพัฒนาที่มีประสิทธิภาพทั้งภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและสถาบัน ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) เนื่องจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีให้มีคุณภาพมากขึ้นนั้นอาจไม่เพียงพอต่อการรักษาตำแหน่งในตลาดอีกต่อไป

SIer ต้องเดินหน้าควบคู่กัน

การสนับสนุน SIer จึงกลายเป็นวาระเร่งด่วน หากเปรียบเทียบ ผู้ผลิตหุ่นยนต์ กับ SIer ก็เหมือนรถกับล้อ ซึ่งหุ่นยนต์จะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อมีการวางระบบที่รองรับ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรม SIer ก็ประสบปัญหาเช่นกัน

Japan Factory Automation & Robot System Integrator Association เผยว่าสมาชิกของสมาคมประสบปัญหาขาดแคลนวิศวกรด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นอย่างมาก โดยมีการขาดแคลนวิศวกรในระดับปานกลาง 59% (85 บริษัท) ขาดแคลนวิศวกรอย่างรุนแรง 39% (57 บริษัท) และมีเพียง 2% (3 บริษัท) เท่านั้นที่มีวิศวกรเพียงพอ ซึ่งการขาดแคลนวิศวกร หมายถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่ และอาจนำไปสู่การเสียโอกาสทางธุรกิจ เช่น การจำเป็นต้องปฏิเสธคำสั่งซื้อ

SME จากจังหวัดโอซากะรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า SIer เป็นงานหนักมากและส่งผลกระทบต่อยอดขายโดยตรง และการที่บริษัทมี SIer ไม่เพียงพอ ก็หมายถึงการที่ไม่อาจรับออร์เดอร์จากลูกค้าได้แม้จะมีการติดต่อเข้ามา 

ทางสมาคมจึงตัดสินใจจัดการแข่งขัน “Robot Idea Koushien” เพื่อสรรหาแนวทางการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่แปลกใหม่จากนักเรียน และนักศึกษา จัดอมรมสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะเบื้องต้นด้าน SIer ไปจนถึงการเปิดหลักสูตร SI ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัย การจัดทำระบบสอบวัดมาตรฐานความรู้ด้าน SI เพื่อประเมินความสามารถ และแนวทางอื่น ๆ เพื่อเพิ่มจำนวนและคุณภาพของบุคลากร SIer ในญี่ปุ่น

ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า แม้ความต้องการหุ่นยนต์จะพุ่งสูง แต่หากมี SIer ไม่เพียงพอแล้ว ก็ย่อมหมายถึงการเสียโอกาส ไม่อาจตักตวงความต้องการหุ่นยนต์เอาไว้ได้ การพัฒนาทั้งสองด้านควบคู่กันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมนับแต่นี้ไป

 

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม โรบอท ญี่ปุ่น 2022

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม โรบอท ญี่ปุ่น 2022

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

#อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ #หุ่นยนต์ญี่ปุ่น #ญี่ปุ่น #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH