ซ้ำเติม “วิกฤตชิปขาดตลาด” คาดกระทบ 1.3 ล้านคันทั่วโลก

ซ้ำเติม “วิกฤตชิปขาดตลาด” คาดกระทบ 1.3 ล้านคันทั่วโลก

อัปเดตล่าสุด 9 เม.ย. 2564
  • Share :
  • 842 Reads   

♦ “วิกฤตชิปขาดตลาด” อาจรุนแรงขึ้น คาดกระทบการผลิตยานยนต์ 1.3 ล้านคันทั่วโลก

♦ คลื่นลมเย็นในสหรัฐฯ ทำให้โรงงานผลิตชิปหลายแห่งต้องหยุดการผลิตชั่วคราวในเดือนกุมภาพันธ์

♦ เดือนถัดมา เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตชิปยานยนต์รายใหญ่ในญี่ปุ่น

Advertisement

วิกฤตชิปขาดตลาดอาจรุนแรงขึ้น หลังโรงงานผลิตชิปหลายแห่งในสหรัฐฯ ต้องหยุดการผลิตชั่วคราวในเดือนกุมภาพันธ์จากปัญหาคลื่นลมเย็น และในเดือนถัดมาโรงงานผลิตชิปยานยนต์ในญี่ปุ่นเกิดเหตุไฟไหม้ทำให้ต้องหยุดการผลิต คาดกระทบการผลิตยานยนต์ 1.3 ล้านคันทั่วโลก พร้อมข่าวลือการเตรียมปรับขึ้นราคาของชิปหลายค่าย

ในขณะที่เริ่มมีการคาดการณ์ที่น่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้นจากหลายฝ่าย เช่น Semiconductor Industry Association ที่คาดการณ์เม็ดเงินที่ต้องใช้ในการฟื้นกำลังผลิตทั่วโลก, ข่าวลือการขึ้นราคาชิปของ TSMC, ไปจนถึงแนวโน้มการสนับสนุนการลงทุนของอินเดีย

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2021 สำนักวิเคราะห์ IHS Markit จากประเทศอังกฤษ ได้รายงานสถานการณ์ชิปขาดตลาดที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังโรงงานผลิตชิปหลายแห่งในสหรัฐฯ ต้องหยุดการผลิตชั่วคราวในเดือนกุมภาพันธ์จากปัญหาคลื่นลมเย็น และในเดือนถัดมาโรงงานผลิตชิปยานยนต์ในญี่ปุ่นเกิดเหตุไฟไหม้ทำให้ต้องหยุดการผลิต โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตยานยนต์นั่งส่วนบุคคลรวม 1.3 ล้านคันทั่วโลก จากเดิม 1 ล้านคันที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี และคาดว่าอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างน้อยจนถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2021 นี้

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุไฟไหม้ที่โรงงาน Renesas Electronics ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ครองส่วนแบ่ง 30% ในตลาด Microcontroller Units ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ โดยบริษัทได้เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าอาจต้องใช้เวลามากถึง 100 วันจึงจะสามารถฟื้นฟูกำลังการผลิตได้

Advertisement

ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Industry Association: SIA) เปิดเผยกับรอยเตอร์เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาว่า หากต้องการเสริมกำลังผลิตซัพพลายเชนทั่วโลกให้เพียงพอต่อความต้องการจะต้องใช้งบประมาณมากถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะทำให้ราคาชิปเซมิคอนดักเตอร์พุ่งทะยานเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันสิทธิบัตรและซอฟต์แวร์สำหรับออกแบบชิปส่วนใหญ่เป็นของสหรัฐอเมริกา วัสดุที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่มาจากยุโรป และฐานการผลิตชิปประสิทธิภาพสูงซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของยานยนต์ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย ซึ่งไต้หวันครองส่วนแบ่งในเอเชียมากถึง 92% ทำให้ทางสมาคมฯ เล็งเห็นว่า หากไต้หวันไม่สามารถเสริมกำลังผลิตชิปได้ ในท้ายสุดปัญหานี้จะลุกลามไปถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันสำนักข่าวหลายรายเริ่มมีรายงานข่าวลือว่า TSMC ที่เป็นผู้เล่นอันดับ 1 ของตลาดอาจต้องปรับขึ้นราคาชิปจากเดิม 25%

นอกจากนี้ ยังมีแหล่งข่าวจากรอยเตอร์ได้รายงานว่า รัฐบาลอินเดียเป็นอีกประเทศที่เล็งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน และมีแผนสนับสนุนเงินลงทุนมูลค่า 1 พันล้านสหรัฐให้กับบริษัทที่จะเข้าไปเปิดโรงงานชิปเซมิคอนดักเตอร์ในอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนขยายจากความต้องการลดการพึ่งพาจีน และเสริมซัพพลายเชนให้รองรับการเติบโตของ 5G อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีอินเดียยังไม่ให้คำยืนยันต่อรอยเตอร์แต่อย่างใด