สหรัฐฯ ประกาศเป้า “ลดการปล่อย CO2 จากอุตฯ การบิน 20% ภายในปี 2030”

สหรัฐฯ ประกาศเป้า “ลดการปล่อย CO2 จากอุตฯ การบิน 20% ภายในปี 2030”

อัปเดตล่าสุด 27 ก.ย. 2564
  • Share :
  • 786 Reads   

มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุด ทำเนียบขาว สหรัฐอเมริกา ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหรรมการบิน 20% ภายในปี 2030 ผ่านการสนับสนุนเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF)

Advertisement

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2021 ทำเนียบขาวประกาศเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบิน 20% ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความพยายามของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ถัดจากเป้าหมายด้านยานยนต์เมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อให้บรรลุเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2050

อ่านรายละเอียดเป้าหมายการลดการปล่อย CO2 ในยานยนต์ของสหรัฐฯ คลิก

โดยสหรัฐอเมริกาและยุโรป ได้เผยแผนยกระดับกำลังการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) ซึ่งปัจจุบันมีราคาแพงกว่าเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป 2 - 5 เท่า เนื่องจากปัจจุบันสามารถผลิตได้เพียงจำนวนน้อย โดยผลิตจากน้ำมันใช้แล้ว เช่น น้ำมันปรุงอาหาร

ประธานาธิบดีไบเดนกำหนดให้เครดิตภาษี SAF (SAF tax credit) เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งพรรคเดโมแครตกำลังผลักดันให้ได้รับการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องในวงการอุตสาหกรรมแสดงความเห็นว่าเป็นงบประมาณที่จำเป็นในการรองรับต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน

โดยทำเนียบขาวและสายการบินสหรัฐฯ ยืนยันว่า รัฐบาลไบเดนตั้งเป้าให้สายการบินเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2050 และจะสนับสนุน SAF ให้สายการบินรวม 3 พันล้านแกลลอนภายในปี 2030 

Advertisement

นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐบาลกลางสามแห่งได้เตรียมให้การสนับสนุนโดยอ้างอิงข้อมูลของทำเนียบขาวว่า การบรรลุเป้าหมายลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในสายการบินภายในปี 2050 ได้สำเร็จนั้น จำเป็นต้องใช้ SAF ถึงปีละ 3.5 พันล้านแกลลอน 

โดยหนึ่งในสาเหตุของความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ มาจากแรงกดดันขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเรียกร้องให้สายการบินลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

ปัจจุบันผู้ผลิตอากาศยานยังไม่ได้แสดงความเห็นต่อประกาศนี้ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นเทรนด์ที่กำลังเข้ามาในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอุตสาหกรรมอากาศยานเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นโครงการ ASCEND ของแอร์บัส

โดยในช่วงกลางปี แอร์บัสเคยรายงานว่าปัจจุบัน SAF สามารถนำมาผสมกับเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไปได้ในสัดส่วนมากถึง 50% ไม่ว่าจะเป็น SAF จากชีวมวล (ฺBiomass) หรือ Power-to-Liquid (PtL) synthetic e-fuel ที่ใช้ไฮโดรเจนในการสังเคราะห์ก๊าซเรือนกระจกไปเป็นวัตถุดิบที่สามารถใช้ทดแทนเชื้อเพลิงทั่วไปได้

อย่างไรก็ตาม แอร์บัสเปิดเผยว่าปัจจุบัน SAF ที่ถูกใช้งานจริงมีสัดส่วนเพียง 1% ของเชื้อเพลิงที่สายการบินทั่วโลกใช้งานเท่านั้น และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งผู้ผลิตอากาศยาน ผู้ผลิตเครื่องยนต์ เจ้าของเทคโนโลยี และท่าอากาศยาน จึงจะช่วยกันเดินไปถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ในปี 2050


#Climate Change #ลดคาร์บอน #ลดการปล่อย CO2 #Aviation #Aerospace #อุตสาหกรรมการบิน #อากาศยาน #Sustainable Aviation Fuel #Airbus #สายการบิน #มาตรการสิ่งแวดล้อม #SAF Tax Credit #ลดคาร์บอนไดออกไซด์ #ลดคาร์บอน ลดโลกร้อน #ความเป็นกลางทางคาร์บอน #Carbon Neutrality #2050 Carbon Neutral #Carbon Neutral #co2 emissions #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #Mreport #วงในอุตสาหกรรม #เอ็ม รีพอร์ต #เอ็มรีพอร์ต

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH