อินโดนีเซีย และเป้าหมายอีวีที่ทะเยอทะยาน

อินโดนีเซีย ตั้งเป้า "ท็อป 3 ผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวี" จะเป็นไปได้จริงหรือ?

อัปเดตล่าสุด 13 ก.พ. 2566
  • Share :
  • 2,152 Reads   

จับตา “อินโดนีเซีย” จะขึ้นเป็นท็อป 3 แบตเตอรี่อีวีได้หรือไม่ จากปริมาณนิกเกิลสำรองมากที่สุดในโลก หันมาส่งออกนิกเกิลแปรรูปแทนนิกเกิลดิบที่ถูกแบน เร่งเตรียมอีโคซิสเต็มผลิตแบตอีวีที่ต้องใช้นิกเกิล 40 กิโลต่อคัน

ปัจจุบันอินโดนีเซียกำลังกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่สื่อต่างจับตามอง หลังจากเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา นาย Luhut Binsar Pandjaitan รัฐมนตรีประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุน กล่าวในการประชุมประสานงานระดับชาติของหัวหน้าภูมิภาคประจำปี 2023 ว่า “อินโดนีเซียอาจขึ้นไปเป็นหนึ่งในสามของผู้นำด้านการผลิตแบตเตอรี่อีวี และรถอีวีภายในปี 2027 ก็เป็นได้”

โดยความเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก MIND ID รัฐวิสาหกิจอินโดนีเซีย ลงนามความร่วมมือกับ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีสัญชาติจีนเบอร์หนึ่งของโลก เพื่อพัฒนาอีโคซิสเต็มแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

Nikkei Asia ระบุ นาย Luhut Binsar Pandjaitan เปิดเผยว่าอินโดนีเซียจะเริ่มผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนได้อย่างเร็วที่สุดในปี 2024 ในขณะที่สื่ออินโดนีเซียอย่าง ANTARA และ Jakarta Globe รายงานว่าจะเป็นปี 2025

Advertisement

อินโดนีเซียมีปริมาณนิกเกิลสำรองที่มากที่สุดในโลก

คำกล่าวนี้ทำให้อินโดนีเซียเริ่มเป็นที่จับตามองมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2023 สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้ลงบทความเจาะลึกถึงความทะเยอทะยานของอินโดนีเซียในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยเปรียบเทียบว่าอินโดนีเซียมีเป้าหมายใหญ่เหมือนกับนายอีลอน มัสก์ ประธานบริษัทเทสล่า (Tesla) โดยวิเคราะห์ว่า อินโดนีเซียกำลังพัฒนาประเทศให้มีความสำคัญจนมิอาจขาดได้สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจากปริมาณนิกเกิลสำรองที่มากที่สุดในโลก เนื่องจากนิกเกิลเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนซึ่งถูกใช้งานในรถอีวีปัจจุบัน

อีกทั้งในช่วง 3 ปีมานี้ อินโดนีเซียได้เซ็นสัญญาการผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้ารวมแล้วเป็นมูลค่ามากกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐกับบริษัทต่างชาติต่าง ๆ รวมไปถึง Hyundai Motor, LG Group, และ Foxconn อีกด้วย

รอยเตอร์อ้างอิงข้อมูลจากกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) เผยว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียมีนิกเกิลสำรองมากถึง 21 ล้านตัน ในขณะที่รายงานจาก International Nickel Study Group ระบุในช่วงเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2022 อินโดนีเซียขุดนิกเกิลได้ 1.4 ล้านตัน ขึ้นเป็นประเทศที่ขุดนิกเกิลมากที่สุด และมากกว่าอันดับ 2 ในช่วงเวลาเดียวกันอย่างฟิลิปปินส์ซึ่งขุดเพียง 290,000 ตันเท่านั้น

โดยประธานาธิบดีโจโก วีโดโด เริ่มแบนการส่งออกนิกเกิลดิบมาตั้งแต่ปี 2020 และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนแปรรูปและผลิตนิกเกิลในอินโดนีเซีย ทำให้ในปี 2022 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีการส่งออกนิกเกิลแปรรูปมากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอินโดนีเซียเป็นอย่างมากจากในปี 2015 การส่งออกนิกเกิลมีมูลค่าเพียง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังแบนการส่งออกทองแดงและบอกไซต์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2022 อีกด้วย ซึ่งแร่ทั้งสองชนิดนี้ถูกใช้ในการผลิตรถอีวีเช่นกัน

ส่วนทางด้านองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2021 - 2025 อินโดนีเซียจะเป็นผู้ผลิตนิกเกิลมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิตนิกเกิลทั่วโลก และรถอีวีหนึ่งคันจะมีความต้องการนิกเกิลรวม 40 กิโลกรัม

โดยประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า หากอินโดนีเซียสร้างอีโคซิสเต็มรถอีวีได้สำเร็จ จะทำให้การส่งออกนิกเกิลสามารถเติบโตได้มากถึง 200 เท่าจากช่วงก่อนการแบนการส่งออกนิกเกิล พร้อมกล่าวว่าอินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะสร้างซัพพลายเชนแบบครบวงจรสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2027 อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการระบุไทม์ไลน์การส่งออกนิกเกิลของอินโดนีเซีย 

ทางด้าน Nikkei Asia รายงานว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ของอินโดนีเซียกำลังขยายตัวโดยได้รับแรงหนุนจากแหล่งแร่นิกเกิลที่อุดมสมบูรณ์ และคำสัญญาของรัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุน ยกให้อินโดนีเซียเป็นตลาดอีวีที่น่าสนใจด้วยจำนวนประชากร 270 ล้านคน 

Vivek Lath หุ้นส่วนจาก McKinsey บริษัทให้คำปรึกษาสัญชาติสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ว่าอินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบอย่างมากในการนำอีวีมาใช้งาน และคาดการณ์ว่าอินโดนีเซียจะมีรายได้จาก Value Chain ที่เกี่ยวข้องกับอีวีสูงถึงเกือบ 5 หมื่นพันล้านดอลลาร์ภายในปี 2035

ความท้าทายของอินโดนีเซีย 

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอีวีของอินโดนีเซียยังคงมีความท้าทาย โดย Nikkei Asia แสดงความเห็นว่าความท้าทายนี้คือกำลังซื้อของผู้บริโภค การขาดโครงสร้างพื้นฐานการเรียกเก็บเงินสาธารณะ และผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และบริษัทต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การประกาศนโยบายเงินอุดหนุนสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งได้รับเสียงต่อต้านจากประชาชนว่าควรนำเงินไปใช้ในการช่วยเหลือผู้ยากไร้มากกว่า

ส่วนรอยเตอร์ระบุว่า หนึ่งในความท้าทายคือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งจากการทำเหมืองนิกเกิลและจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซีย อีกทั้งกระบวนการผลิตนิกเกิลสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ายังทิ้งคาร์บอนฟุตพริ้นท์จำนวนมาก ซึ่งมีความเสี่ยงที่มลพิษเหล่านี้จะถูกทิ้งลงทะเลได้

 

#อินโดนีเซีย #แบตเตอรี่อีวี #รถยนต์ไฟฟ้า #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH