หุ่นยนต์พยาบาล-ดูแลผู้สูงอายุ รับเทรนด์ สังคมสูงวัย-วิถีใหม่

หุ่นยนต์พยาบาล-ดูแลผู้สูงอายุ รับเทรนด์ สังคมสูงวัย-วิถีใหม่

อัปเดตล่าสุด 2 เม.ย. 2564
  • Share :
  • 2,085 Reads   

♦ อีก 15 ปีข้างหน้า ไทยจะมีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

♦ ชีวิตวิถีใหม่ (์New Normal) ทำให้การพยาบาลและดูแลผู้สูงอายุ มีข้อจำกัดยิ่งขึ้น

♦ หุ่นยนต์ฆ่าเชื่อ สั่งอาหาร จ่ายยา ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงการระบาดของโควิด แต่ยังมี “หุ่นยนต์พยาบาล” ซึ่งสามารถทำงานเฉพาะด้าน เช่น หุ่นยนต์ช่วยพยุงตัว หุ่นยนต์ช่วยเดิน ที่จะเป็นตัวช่วยที่เข้ามามีบทบาทในอนาคต 

การดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุกลายเป็นเรื่องยากในยุคโควิดที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค จนเป็นที่มาของชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยที่กำลังจะเผชิญกับสังคมสูงวัย ในปี 2579 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ไทยจะมีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เทคโนโลยีที่จะเข้ามาสนับสนุนงานด้านการพยาบาลและการดูแลผู้สูงอายุได้รับความสนใจ และมีศักยภาพด้านธุรกิจอย่างมาก 

หนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในงานด้านการแพทย์ของไทยในช่วงการระบาดของโควิด คือ หุ่นยนต์ ฆ่าเชื้อ-ส่งอาหาร-จ่ายยา แต่ในความจริงแล้ว ยังมีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อสนับสนุนงานด้านการพยาบาลเฉพาะด้านอีกด้วย  

FUJI CORPORATION ผู้ผลิตหุ่นยนต์สนับสนุนการเคลื่อนที่ (Mobility support robot) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด บริษัทได้รับออร์เดอร์หุ่นยนต์ “Hug” เพิ่มขึ้น จากเดิมที่มียอดสั่งซื้อเพียงเเดือนละหลักสิบ เป็นเดือนละมากกว่า 100 ตัว ซึ่งหุ่นยนต์ชนิดนี้ถูกออกแบบให้ใช้งานง่ายเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุให้ลุกขึ้นยืนและเดินไปมาได้ง่ายขึ้น โดยหุ่นยนต์จะทำหน้าที่พยุงตัวโดยไม่ต้องใช้เข็มขัด ป้องกันการหกล้ม ช่วยประหยัดเวลาให้กับผู้ดูแล และสามารถควบคุมผ่านรีโมทได้

AIZUK ผู้ผลิตโดรนและหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นอีกรายที่เล็งเห็นโอกาสในตลาดนี้ และส่ง “Keipu” หุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องช่วยเดินผสมผสานกับวีลแชร์เข้าสู่ตลาด โดยตัวแทนจาก FIT Pacific ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายแสดงความเห็นว่าหุ่นยนต์ชนิดนี้สามารถขึ้นไปนั่งได้จากด้านหลัง ต่างจากวีลแชร์ที่ต้องนั่งจากด้านหน้า ทำให้ผู้สูงอายุใช้งานได้ง่าย และช่วยลดภาระผู้ดูแลได้ และช่วยให้การพยุงตัวผู้สูงอายุขึ้นจากเตียงทำได้ง่ายขึ้น

Sunwa ผู้ผลิตวีลแชร์และรถเข็นสินค้า ซึ่งไม่มีสินค้าที่เป็นหุ่นยนต์ ได้เล่าว่าช่วงการระบาดของโควิด สถานพายาบาล และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหลายแห่งประสบปัญหาในการช่วยเหลือผู้ป่วยจากมาตรการป้องกันโรค และผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถขึ้นลงบันไดหรือใช้ลิฟต์ได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาเจ้าหน้าที่พยาบาลไม่เพียงพอ และทำให้วีลแชร์ของบริษัทที่สามารถเข็นขึ้นลงบันไดได้ มีบออร์เดอร์เข้ามาจำนวนมาก ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่านอกจากหุ่นยนต์แล้ว ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยในการดูแลผู้สูงอายุชนิดอื่นก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน