207-รถยนต์ไฟฟ้า-ไทย-โควิด-19

หวั่น “พิษโควิด-19” กระทบแผนปั้นรถอีวีไทย

อัปเดตล่าสุด 10 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 656 Reads   

เป็นที่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเกือบทุกอุตสาหกรรม ไม่เลือกแม้อุตสาหกรรมยานยนต์ กระทบทั่วหน้าตั้งแต่ผู้ผลิต ดีลเลอร์ ไปจนถึงผู้บริโภค

เห็นได้จากการประกาศยกเลิกงานเเสดงรถยนต์ระดับโลก อย่างเช่น เจนีวา มอเตอร์โชว์ 2020 และปารีส มอเตอร์โชว์ 2020 รวมถึงการเลื่อนยาวของบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ของไทย

ผู้ผลิตรถยนต์เกือบทุกยี่ห้อ ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราว โดยมีเหตุผลจากระบบชิ้นส่วน ซึ่งซัพพลายเออร์กำลังซมกับพิษโควิดโดยเฉพาะจีน

สภาอุตฯแห่งประเทศไทยระบุชัดว่า หากโควิดยืดเยื้อไปถึงเดือนกันยายนปีนี้ การผลิตรถยนต์ในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เป้าการผลิตจาก 2 ล้านคันต่อปี จะเหลือเพียงครึ่งเดียว

คนในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด น่าจะตกงานไม่น้อยกว่า 750,000 คน เม็ดเงินจะหายไปถึง 1 ล้านล้านบาท

ผลกระทบครั้งนี้ยังสะเทือนไปถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในอุตฯรถยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (electric vehicle) ตั้งแต่ lightweight เทคโนโลยี, แบตเตอรี่, จนไปถึงมอเตอร์ไฟฟ้า

“กฤษฎา อุตตโมทย์” อุปนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ฝ่ายส่งเสริมการใช้ กล่าวถึงปัจจัยที่มีผลกระทบ ต่อการหดตัวในภาคธุรกิจว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบ คือ

1.ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีผลต่อยอดการขายและการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์

2.เม็ดเงินลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเเละการวิจัยด้านยานยนต์มีแนวโน้มที่จะปรับลดลง เพราะงบประมาณการใช้จ่ายถูกจัดสรรไปสู่ส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านการปฏิบัติการที่จำเป็น

3.อาจเกิดการลดขนาดของการลงทุนในตลาดที่ไม่ใช่ตลาดเป้าหมายเร็วขึ้น

4.การหาวัตถุดิบจากผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ อาจทำได้ยากขึ้น ส่งผลต่อผู้ผลิตรถยนต์ที่ไม่สามารถหาอะไหล่หรือชิ้นส่วนสำคัญได้

และ 5.ความเป็นไปได้ในการปรับปรุงโครงสร้างของระบบการจัดจำหน่าย เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจำเป็นต้องอาศัยมาตรการจากทางภาครัฐเข้ามาสนับสนุน ซึ่งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีการกำหนดเป้าหมายให้ภายในปี 2573 ประเทศไทยจะต้องมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด เพราะรัฐบาลเล็งเห็นว่า ยานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยลดการปล่อยมลพิษ และมีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และยังช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย

ซึ่งทางคณะกรรมการได้มีข้อเสนอจัดทำแผนส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง

ส่วนผลกระทบต่อการลงทุนเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดนี้ มีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมาปรับเปลี่ยนระบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถตอบรับกับสถานการณ์อันไม่คาดคิดนี้ได้ ตัวอย่าง เช่น การวางแผนการผลิต

ในรอบการผลิตที่จำนวนลอตลดลง และมีระยะเวลาในการประกอบที่สั้นลงเช่นกัน และต้องลดต้นทุนการผลิตลงให้ได้มากที่สุด

“ไทยนั้นถือเป็นยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาค เรามีฝีมือแรงงานทักษะความชำนาญ ความละเอียด และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย หากเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรเร่งส่งเสริมวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น”

เทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้ายังมีทิศทางที่น่าจะเติบโตได้เร็วกว่าที่คิด โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาที่ไม่สูงมาก

ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเอง ได้นำเสนอ 8 ข้อเสนอแนะแนวทางการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าไทย กับหลายหน่วยงานของภาครัฐเมื่อปี 2562 และได้รับการตอบรับที่ดีในการนำข้อเสนอดังกล่าวไปปรับใช้ในแนวทางการส่งเสริม

แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า จะทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับรถยนต์ระบบสันดาปภายในจะได้รับผลกระทบโดยตรง

เพราะระบบส่งกำลังและเครื่องยนต์จะถูกทดแทน ด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่แรงดันสูง และรถยนต์อีวีมีชิ้นส่วนรถยนต์ที่เคลื่อนไหวน้อยกว่ารถยนต์ระบบสันดาปภายใน แต่ก็ยังมีชิ้นส่วนบางประเภทที่สามารถใช้ร่วมกันได้สำหรับรถยนต์ทั้ง 2 ประเภท เช่น โครงสร้าง ตัวถังรถ ระบบช่วงล่าง

ส่วนพฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์ก็พร้อมที่จะตอบรับรถอีวีมากขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวลงก็ตาม

หลายคนอาจสงสัยว่า รถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่ได้เป็นที่น่าสนใจมากในช่วงเวลานี้ แต่ในระยะยาวนั้น รถอีวีหรือรถยนต์ไฟฟ้าเเบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด น่าจะได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะผู้บริโภคคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม การมีส่วนช่วยลดมลพิษและผู้บริโภคกลุ่มนี้จริง ๆ แล้วเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในอนาคตนั้น ผู้ใช้รถยนต์พลังงานสะอาด เหล่านี้จะมีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมรูปแบบการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แล้วจะทำให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อร่วมกันลดมลพิษในทิศทางเดียวกัน

โดยการหันมาใช้รถอีวี หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด อันเป็นเทคโนโลยีสำหรับอนาคตอันใกล้นี้อย่างแท้จริง