Foxconn คือใคร? มาจับมือ PTT ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะอะไร?

Foxconn คือใคร? มาจับมือ PTT ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะอะไร?

อัปเดตล่าสุด 11 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 9,383 Reads   

 ฟ็อกซ์คอนน์ คือใคร Foxconn Thailand ทำอะไร ร่วมหุ้น ปตท. ทำรถยนต์ไฟฟ้า ใครได้ ใครเสีย 

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2021 เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ข่าวปตท. จับมือ ฟ็อกซ์คอนน์ รุกตลาดยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยเงินลงทุนขั้นต้น 1-2 พันล้านเหรียญ จัดตั้งแพลตฟอร์มการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและส่วนประกอบหลักต่าง ๆ ครบวงจรในไทย อย่างไรก็ตาม หลายคนยังไม่รู้ว่า Foxconn คือใคร มาจากไหน และเพราะเหตุใด ปตท. จึงร่วมลงทุน

Advertisement

ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) เป็นชื่อทางการค้าของ Foxconn Technology Group ภายใต้บริษัท หงษ์ไห่ พรีซิชั่น อินดัสทรี (Hon Hai Precision Industry) จากประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพนักงานมากกว่า 1 ล้านคนในโรงงานที่จีนซึ่งเป็นฐานผลิตหลัก โดยฟ็อกซ์คอนน์ผลิตสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต และชุดจอภาพทีวี ให้แก่หลากหลายแบรนด์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Sony, Dell, Intel, Amazon, Xiaomi, BlackBerry จนมีการพูดว่า 40% ของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกผลิดโดย Foxconn

ชื่อของฟ็อกซ์คอนน์ กลายเป็นที่รู้จักในเวทีโลกมากขึ้นในปี 2001 เมื่ออินเทล (Intel) หนึ่งในผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกได้เลือกให้ Foxconn เป็นผู้ผลิตแผงวงจรของอินเทลแทนที่ Asus

แต่สิ่งที่ทำให้ฟ็อกคอนน์เป็นที่รู้จักดีที่สุด คือการผลิต iPhone และอุปกรณ์อื่น ๆ ให้ Apple โดยสาเหตุที่ทำให้ Foxconn ขึ้นมายืนแถวหน้าของโลกได้ คือ เทคโนโลยีแม่พิมพ์โลหะ ต้นทุนการผลิตต่ำ และความสามารถในการจัดส่งสินค้าใหม่จำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งที่โรงงานในจีนนั้นสามารถผลิตไอโฟนได้มากถึงวันละ 500,000 เครื่อง

ธุรกิจของ Foxconn เริ่มต้นในปี 1974 หรือเกือบ 50 ปีที่แล้วโดยนาย Terry Gou หลังจากดำเนินธุรกิจในการผลิตขั้วต่ออิเล็กทรอนิกส์แล้ว ในยุคปี 1990 ฟ็อกซ์คอนน์ได้ขยายธุรกิจขึ้นเป็นผู้รับจ้างผลิต และในยุคปี 2000 ธุรกิจของฟ็อกคอนน์ได้ผูกปิ่นโตไว้กับแอปเปิลอย่างเหนียวแน่น ทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายปีให้หลังนี้ การเติบโตของแอปเปิลได้ชะลอตัวลง ทำให้ Foxconn เริ่มมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการขยายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบริษัทด้านโทรคมนาคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อม ๆ กับการประมูลใบอนุญาต 4G ในไต้หวันเพื่อเข้าสู่ธุรกิจนี้ในปี 2014 และการเข้าซื้อเทคโนโลยีผลิตจอ LCD ของ Sharp ในปี 2016 

ส่วนในฝั่งรับจ้างผลิตนั้น Foxconn พยายามเพิ่มศักยภาพการผลิตและขยายประเภทสินค้าให้กว้างมากขึ้น ฟ็อกซ์คอนน์ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทหุ่นยนต์ในเครือ SoftBank ของญี่ปุ่น และพยายามใช้หุ่นยนต์ในการผลิตแบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ ปัญหาค่าแรงที่สูงขึ้นในจีน ทำให้ฟ็อกซ์คอนน์ย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังอินเดียและเวียดนามอีกด้วย

ปัจจุบันฟ็อกซ์คอนน์มีโรงงานหลายแห่งทั่วโลก แต่ไม่มีโรงงานในไทย มีเพียงกระแสข่าวเมื่อสามปีก่อนว่า Foxconn สนใจลงทุนตั้งโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนในอีอีซีจากการที่ผู้บริหารระดับสูงของฟ็อกคอนน์มาไทยเท่านั้น

ย่างเข้าสู่ทศวรรษ 2020 Foxconn เริ่มต้นหมุดหมายสำคัญในการมุ่งมั่นเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเบ่งบาน ด้วยการบรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนกับเฟียต ไครสเลอร์ ซึ่งเพิ่งควบรวมบริษัทกับ PSA Group สู่ชื่อใหม่ “Stellantis” 

Advertisement

นอกจากนี้ Foxconn ยังเป็นหุ้นส่วนกับ Yulon Group ผู้ผลิตยานยนต์ Luxury แบรนด์จากไต้หวัน และยังก่อตั้ง MIH Alliance สำหรับ EV Open Platform ซึ่งจนถึงวันนี้มีสมาชิกราว 1,700 ราย 

และในปี 2021 นี้ แม้จะเวลาจะผ่านไปไม่ถึงครึ่งปี แต่ Foxconn ยังคงเดินหน้าหาหุ้นส่วนใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Zhejiang Geely Holding Group  และ Byton จากจีน, Fisker สตาร์ทอัพอเมริกัน, รวมไปถึงปตท. บ้านเรา

จะเห็นได้ว่า ฟ็อกซ์คอนน์ทะเยอทะยานกับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าอย่างยิ่ง โดยตั้งเป้าครองส่วนแบ่ง 10% ในตลาดชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าโลกภายในปี 2025  นอกจากนี้ยังมีข่าวคราวว่าจะร่วมพัฒนาอีวีกับวินฟาสต์จากเวียดนามอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยเอง การที่ผู้เล่นระดับโลกเข้ามาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทยเช่นนี้ จะเป็นทางลัดให้ไทยไปถึงเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้มีผู้ผลิตรถอีวีสัญชาติไทยหน้าใหม่ขึ้นมาในตลาด แต่ในอีกด้าน การเข้ามาของฟ็อกซ์คอนน์ครั้งนี้ก็คุกคามต่อผู้ผลิตรถยนต์ที่อยู่ในตลาดแล้วเช่นเดียวกัน

 

ชมคลิป ฟ็อกซ์คอนน์ จับมือ ปตท. ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

ติดตาม M Report ทุกวันได้ที่ www.mreport.co.th  

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH