โตโยต้า มั่นใจ “ผลประกอบการปีงบ 2020 ดีเกินคาด” พร้อมเผยแผนรับมือ “ชิปขาดตลาด”

โตโยต้า มั่นใจ “ผลประกอบการปีงบ 2020 ดีเกินคาด” พร้อมเผยแผนรับมือ “ชิปขาดตลาด”

อัปเดตล่าสุด 8 มี.ค. 2564
  • Share :
  • 720 Reads   

♦ โตโยต้า ปรับแก้ตัวเลขคาดการณ์ปีงบประมาณ 2020 สิ้นสุด 31 มีนาคม 2021 คาดจะปิดรายได้ 19 ล้านเหรียญ ลดลง 16.6% จากปีก่อนหน้า ดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะลดลง 45.8% 
♦ ไม่หวั่น “วิกฤตชิปขาดตลาด” เคยผ่านวิกฤตแผ่นดินไหว-สึนามิครั้งใหญ่มาแล้ว มีแผน BCP พร้อมรับมือ

โตโยต้า (Toyota) ปรับแก้ตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการบริษัทให้ตัวเลขมีความสอดคล้องกับสภาพตลาดมากยิ่งขึ้น  คาดปีงบประมาณ 2020 รายได้จากการดำเนินงานปิดที่ 2 พันล้านเยน หรือราว 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีงบประมาณ 2019 16.6% สะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากเป็นการปรับแก้ครั้งที่ 2 ถัดจากครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2020 ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้จากการดำเนินงานลดลงถึง 45.8% เผยวิกฤตชิปขาดตลาดกระทบน้อย แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อไป

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา โตโยต้าประกาศปรับแก้ตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการของปีงบประมาณ 2020 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2021 ที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยเพิ่มรายได้จากการดำเนินงานเป็น 2,000 ล้านเยน จากเดิม 1,300 ล้านเยนซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม รายได้จากยอดขายยานยนต์ได้ปรับลดลงจาก 26,500 ล้านเยนเหลือ 26,000 ล้านเยน 

โตโยต้ารายงานว่า ในปีงบประมาณ 2020 บริษัทประสบความสำเร็จในการทำยอดผลิตและยอดจำหน่ายสูงกว่าการคาดการณ์ในช่วงต้นของวิกฤตโควิด และคาดการณ์ว่าในปี 2021 บริษัทจะสามารถคงกำลังผลิตทั่วโลกให้สูงกว่า 9 ล้านคันได้

จากความสำเร็จในการลดค่าใช้จ่ายในช่วงเดือนเมษายน - ธันวาคม 2020 ทำให้สามารถลดต้นทุนได้ถึง 1 แสนล้านเยน หรือราว 934 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และลดค่าใช้จ่ายได้ 8.5 หมื่นล้านเยน หรือราว 794 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม การลดค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยยอดขายยานยนต์ที่ลดลงในช่วงวิกฤตโควิด โดยโตโยต้ามียอดขายยานยนต์ลดลงถึง 6.15 แสนล้านเยน หรือราว 5,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอีก 1.75 แสนล้านเยน

หากพิจารณาเฉพาะช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2020 พบว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานปิดที่ 987,941 แสนล้านเยน หรือราว 9,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นรายได้สูงสุดของไตรมาสที่ 4 นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ผลจากยอดขายยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในญี่ปุ่น อเมริกาเหนือ จีน และเอเชีย 

  • ญี่ปุ่น ปิดที่ 538,500 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 33.1% จากปีก่อนหน้า รถขายดีคือ Yaris และ Harrier
  • อเมริกาเหนือ ปิดที่ 212,900 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 84.6% รถขายดีคือ RAV4 และ Camry
  • เอเชีย (ไม่รวมจีน) ปิดที่ 155,300 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 83.5% รถขายดีคือ Camry และ Lexus RX
  • ยุโรป ปิดที่ 52,900 ล้านเยน ลดลงจากปีก่อนหน้า 15.6% รถขายดีคือตระกูลรถไฮบริด ซึ่งทำยอดโดดเด่นในฝรั่งเศส

Toyota Yaris โมเดลขายดีอันดับหนึ่งต่อเนื่อง 5 เดือนในประเทศญี่ปุ่น (ข้อมูลเดือนมกราคม 2021)

Mr. Kenta Kon เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโตโยต้า แสดงความเห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปีไม่เป็นผลดีแค่กับโตโยต้าเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อซัพพลายเออร์ ตัวแทนจำหน่าย และอุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวมอีกด้วย 

และเปิดเผยว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้โตโยต้าลดค่าใช้จ่ายในช่วงวิกฤตโควิดได้เป็นอย่างมากคือการผลิตแบบลีน และมีแผนจะลดค่าใช้จ่ายในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 นี้ลงอีก 8.5 หมื่นล้านเยนอีกด้วย

Mr. Kenta Kon (ซ้าย) Mr. Jun Nagata (ขวา) เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโตโยต้า
(ภาพจากงานแถลงข่าวออนไลน์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2021)

โตโยต้ารายงานว่า ในปี 2020 บริษัทมียอดผลิตยานยนต์รวม 7,909,488 คัน ลดลง 12.6% จากปีก่อนหน้า ซึ่งมียอดผลิตจากจีนจำนวน 1,537,670 คัน เพิ่มขึ้น 9.5% ซึ่งมีการฟิ้นตัวจากโควิดอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ตลาดจีนยังมีสร้างสถิติยอดขายใหม่ที่จำนวน 1,797,487 คัน เพิ่มขึ้น 10.9% อีกด้วย โดยหนึ่งในซัพพลายเออร์รายใหญ่ของโตโยต้าเปิดเผยว่า ยอดผลิตยานยนต์ของโตโยต้าเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 และฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงท้ายปี 

วิกฤตชิปขาดตลาด” ส่งผลต่อโตโยต้าอย่างไร?

นโยบายของสหรัฐฯ ในสมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ นำมาซึ่งการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่ง Mr. Kenta Kon เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโตโยต้า คาดการณ์ว่า ปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์จะไม่ยาวต่อเนื่องไปถึงช่วงไตรมาสที่ 3 อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์

โตโยต้าเปิดเผยว่า ทางบริษัทได้มีการวาง BCP เพื่อรับมือปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์เอาไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ ปี 2011 โดยร่วมมือกับซัพพลายเออร์วางแผนและประสานงานกันอย่างละเอียด ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การขาดแคลนชิปเพียงเล็กน้อย และมีสต๊อกเซมิคอนดักเตอร์สำหรับการผลิตยานยนต์อีกอย่างน้อย 4 เดือน 

Yasushi Matsui CFO บริษัท Denso แสดงความเห็นว่า โตโยต้าได้ร่วมบริหารสต๊อกเซมิคอนดักเตอร์กับซัพพลายเออร์เป็นอย่างดี ทำให้ไม่จำเป็นต้องกังวลถึงปัญหาการขาดแคลนชิป

ในอีกด้านหนึ่ง ซัพพลายเออร์รายใหญ่อีกบริษัทรายงานว่าโตโยต้าอยู่ระหว่างการเจรจาลดกำลังการผลิตยานยนต์ 10,000 คันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่โตโยต้ายังไม่เปิดเผยรายละเอียดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม โตโยต้ายอมรับว่ายังจำเป็นต้องเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์  เนื่องจากปัจจุบันกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไม่สามารถตอบรับความต้องการทั่วโลกได้อย่างทั่วถึง หากมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นก็อาจกลายเป็นปัญหาได้ พร้อมเผยว่า หากกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาดการณ์ ก็อาจจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตยานยนต์บางรุ่นลงจากเป้าที่วางไว้

นอกจากนี้ ทางบริษัทยังได้ย้ำว่าในอนาคต รถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยียุคใหม่อย่างระบบขับขี่อัตโนมัติจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น การขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ผลิตยานยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะหันมาพิจารณากลยุทธ์ของตนอีกครั้ง

 

อ่านต่อ