เลิกขายรถน้ำมัน 2040

จุดประเด็น “เลิกขายรถเครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2040” ใครตอบรับบ้าง

อัปเดตล่าสุด 24 พ.ย. 2564
  • Share :
  • 2,019 Reads   

สหประชาชาติเสนอร่างเลิกขายรถเครื่องยนต์สันดาปปี 2040 เพื่อทำให้เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 เป็นจริงได้ มาดูกันไว้ประเทศใดตอบรับแล้วบ้าง และค่ายรถมีความเห็นอย่างไร

Advertisement

ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่เพิ่งจบไปได้สร้างหนึ่งประเด็นร้อน นั่นก็คือ ร่างข้อตกลงที่เสนอโดยสหประชาชาติว่าด้วยการยุติการขายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปในตลาดยานยนต์ขนาดใหญ่ภายในปี 2035 และยุติการขายทั่วโลกภายในปี 2040

จากการคำนวณขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศที่พบว่า เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อโลกยุติการขายเครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2035

เดิมทีการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จาก 3.4 หมื่นล้านตันในปัจจุบันให้เหลือ 0 ภายในปี 2050 เพื่อควบคุมให้อุณหภูมิโลกไม่เพิ่มขึ้นสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสองชาติที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 40% ของโลก ได้ประกาศยกระดับความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อตอบสนองต่อแนวทางของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความแปลกใจให้สื่อหลายสำนักเป็นอย่างมาก

โดยสหรัฐฯ มีแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการผลิตกระแสไฟฟ้าให้เป็นศูนย์ในปี 2035 ส่วนจีนมีแผนลดการใช้ถ่านหินต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 15 ปี อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศยังไม่ได้ลงนามให้คำมั่นสัญญาว่า ยุติการขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปในปี 2040 

ส่วนประเทศที่ลงนามเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ (ข้อมูลวันที่ 10 พฤศจิกายน 2021) ก็มีหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ, ออสเตรเลีย, แคนาดา, ไอร์แลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน, เดนมาร์ก, กัมพูชา, และอื่น ๆ รวมแล้วมากกว่า 20 ประเทศ

และแน่นอนว่า ร่างข้อตกลงนี้ได้กลายเป็นที่กล่าวถึงในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอย่างมาก เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาแทนที่รถยนต์ทั่วไปได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย 

ค่ายรถที่ให้คำมั่นว่าจะยุติการขายเครื่องยนต์สันดาป และเปลี่ยนมาขายรถอีวี 100% ภายในปี 2040  (ข้อมูลวันที่ 10 พฤศจิกายน 2021) มีดังนี้

  • BYD
  • Ford Motor
  • General Motors
  • Volvo
  • Jaguar Land Rover
  • Mercedes-Benz

โดย Volkswagen แสดงความเห็นว่า การปรับตัวของค่ายรถเพื่อให้เข้าสู่ยุคความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นกุญแจสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้จริง และความตกลงปารีสไม่สามารถต่อรองได้ อย่างไรก็ตาม แต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน ทั้งความเร็วในการพัฒนา และข้อกำหนดต่าง ๆ ทำให้กระบวนการการก้าวสู่ยุคความเป็นกลางทางคาร์บอนย่อมต่างกันออกไป

จากรายชื่อด้านบนจะเห็นว่ายังไม่มีค่ายรถญี่ปุ่นให้คำมั่นต่อข้อตกลงนี้ โดยสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่น (Japan Automobile Manufacturers Association) แสดงความเห็นว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซด้วยเทคโนโลยีรถไฮบริดมากกว่า และโลกควรให้ความสำคัญกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากทุกภาคส่วน ไม่ใช่ตั้งแง่กับเครื่องยนต์สันดาปเพียงอย่างเดียว

 

#รถยนต์ไฟฟ้า #EV #Electric Vehicle #Carbon Neutrality #2050 Carbon Neutral #ความเป็นกลางทางคาร์บอน #ลดคาร์บอน #ลดคาร์บอนไดออกไซด์ #ลดคาร์บอน ลดโลกร้อน #นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โรงงาน #มาตรการลดโลกร้อน #รถยนต์ไฟฟ้า #อุตสาหกรรมยานยนต์ #เอ็ม รีพอร์ต #M Report #mreportth #Mreport #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH