ปักธงสู่อุตสาหกรรม 4.0 ท่ามกลางปัญหา "คนยุค 0.4"

อัปเดตล่าสุด 2 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 388 Reads   

"ไทยแลนด์ 4.0" เป็นนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศผลักดันมาตลอด ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมกับไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จัดงาน Asia IOT Business Platform (AIBP) เปิดเวทีเสวนา "Thailand 4.0 means opportunity Thailand" หาทางออกพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่ยุค 4.0 
 
"กลัว-โอกาส-ลดต้นทุน"

"แอลฟี ลี มุน ชุง" ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจบริการและโซลูชั่น บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ฟูจิตสึได้สำรวจกว่า 1,500 บริษัท พบว่าการทำทรานส์ฟอร์มองค์กรเกิดจาก "ความกลัว-โอกาส-ลดต้นทุน" โดย5 อุตสาหกรรมที่ทรานส์ฟอร์มเร็วที่สุด ได้แก่ 1.การเงิน 2.รีเทล 3.ขนส่ง 4.เฮลท์แคร์ และ 5.การผลิต ส่วนปัจจัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้คือ ต้องมีความเป็นผู้นำ บุคลากร ความคล่องตัว การบูรณาการธุรกิจ ระบบนิเวศ และการสร้างมูลค่าจากข้อมูล ไม่ใช่แค่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่ต้องเปลี่ยนทุกส่วนขององค์กร
นอกจากนี้ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ต้องปรับให้เหมาะสมที่สุดกับข้อมูลประเภทต่าง ๆ โดยผนวกรวมประสบการณ์ด้านธุรกิจและความรู้ด้านเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน และในยุคของ IOT, AI และ Blockchain
ฟูจิตสึเชื่อว่าองค์กรประเภท learning enterprise จะเกิดขึ้น โดยบุคลากรจะประสานงานร่วมกับ AI เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์และข้อมูลต่าง ๆ และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ 

สตาร์ตอัพแย่งคนไอที

"ปรนนท์ ฐิตะวรรโณ" ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ทั่วโลกมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยเยอรมนีก้าวไปไกลมาก ขณะที่ไทย 97% เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งส่วนใหญ่ไม่รู้จะไป 4.0 อย่างไร เพราะยังไม่รู้ว่าธุรกิจอยู่ขั้นไหน 2.0 หรือ 3.0 ซึ่งปัญหาเกิดจากแรงงานไทยมีความรู้ในเทคโนโลยีใหม่ ๆ น้อย และยิ่งมีมากขึ้น เพราะคนยุคใหม่ไม่อยากเป็นแรงงานแต่อยากเป็นสตาร์ตอัพ

"การไปไทยแลนด์ 4.0 ยังขาดโอเปอเรชั่นด้านเทคโนโลยีที่จะมาคอยกำหนดทิศทางการทรานส์ฟอร์มขององค์กร จุดที่ขาดแคลนที่สุดตอนนี้ คือ คนไอทีที่สามารถบริหารจัดการได้ 

หลายบริษัทมีฮาร์ดแวร์ซอฟต์แวร์เยอะแต่สื่อสารกันไม่ได้ ดังนั้น เจ้าของต้องทำความเข้าใจว่าการทรานส์ฟอร์มคืออะไร เข้าใจว่า 4.0 ต้องทำอย่างไร บริษัทอยู่จุดไหน และทำความเข้าใจกับพนักงานให้ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อที่จะไปทรานส์ฟอร์มและอย่าพึ่งคิดบิ๊กดาต้า ต้องเริ่มเก็บข้อมูลก่อน"

ปัญหาขาดแคลนคนไอทียังส่งผลถึงการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคด้วย เพราะประเทศเพื่อนบ้านค่าแรงถูกกว่า ใช้ภาษาอังกฤษได้และมีทักษะไอทีมากกว่า ถ้าไทยไม่เร่งนำเทคโนโลยีมาใช้จะยิ่งสู้ไม่ได้ อีกเรื่องคือปัญหาเรื่องเงินในการทรานส์ฟอร์ม จึงควรศึกษาให้ถี่ถ้วนก่อนลงทุน ไม่ใช่เห็นเทคโนโลยีใหม่ก็จะใช้ ทั้งที่ไม่จำเป็น

"วัวหายล้อมคอก" ไมนด์เซตผู้นำ

"ปรนนท์" กล่าวต่อว่า คนไทยเป็นประเภทวัวหายล้อมคอก บริษัทไม่รู้จะไปทิศทางไหน ต้องรอให้เกิดเหตุก่อนแล้วค่อยลงทุน จึงต้องเปลี่ยนไมนด์เซต โดยอาจจะคิดเรื่องที่ใหญ่แต่ต้องเริ่มจากเล็ก ๆ ต้องทำงานร่วมกัน และ อยากให้องค์กรใหญ่ช่วยเข้ามาสนับสนุน ให้คำแนะนำองค์กรเล็ก ๆ

"ในโลกของ IOT มีของมากมาย ดังนั้น เราต้องเรียนรู้อีกมาก เพราะมี IOT ธรรมดาและสมาร์ท IOT ดังนั้น เราต้องมีความรู้ก่อนและภาครัฐต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะตอนนี้เราเสียเวลาไปมากกว่า 4 ปี แต่ยังอยู่ 0.4 อยู่เลย"

เป็นศัตรูก็ต้องร่วมมือ

"ราเกซ ซิงห์" ผู้อำนวยการส่วนพัฒนากลยุทธ์และปฏิบัติการองค์กร บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ กล่าวว่า บริษัทศรีไทยฯ เป็นบริษัทโบราณอยู่มานานกว่า 50 ปี ดังนั้น การทรานส์ฟอร์มจึงถือว่าเริ่มจากศูนย์ โดยกำลังมุ่งสู่การผลิตที่ใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน วัดผลทุกอย่างและติดตามข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจ ที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนทรานส์ฟอร์มหลายอย่างมีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว
ดังนั้น องค์กรต้องเปิดโอกาสให้ทุกอย่างเข้ามาเพื่อให้เกิดประสบการณ์ และต้องเรียนรู้ที่จะทำงานกับพาร์ตเนอร์แม้กับบางรายจะเป็นศัตรูกันก็ตาม 

"บริษัทไปดูงานที่เยอรมนี ทำให้เห็นข้อแตกต่างเมื่อเทียบกับไทย อย่างแรกที่เป็นอุปสรรคของไทย คือ นโยบายของภาครัฐที่ต้องออกแบบให้ทุกภาคร่วมมือกัน ทั้งรัฐ การศึกษา ภาคเอกชน นอกจากนี้ ต้องระวังการสื่อสารเมื่อใช้หุ่นยนต์เข้ามาทำงาน โดยต้องย้ำว่าไม่ได้แทนที่คน แต่เพื่อช่วยให้ทำงานดีขึ้น และอีกส่วนคือการจัดการระบบที่ต้องทำให้สื่อสารกันให้ได้ทุกภาคส่วน เพราะที่ผ่านมาเคยเจอปัญหาระบบมักจะสื่อสารกันเองไม่ได้"

IOT อาจวัดผลไม่ได้ด้วยตัวเลข

"พิชัย องค์วาสิฏฐ์" Head of IT Innovations บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร กล่าวว่า บริษัทโชคดีที่ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ในการทรานส์ฟอร์มดังนั้น โฟกัสหลักของบริษัทคือการเก็บข้อมูลและแปลงข้อมูลโดยได้ลงทุนใส่เซ็นเซอร์ IOT ในส่วนต่าง ๆ และวัดตัวแปรเก็บไว้ในดาต้าเซ็นเตอร์ และกำลังเริ่มโครงการทำคลาวด์เพื่อที่จะขยายขีดความสามารถในการเก็บข้อมูล เนื่องจากการดำเนินธุรกิจในหลายประเทศทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป จีน และหนึ่งในความยากของ IOT คือการวัดประโยชน์ ทำให้ยากต่อการลงทุน ดังนั้น ต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาคอยให้คำแนะนำ พร้อมทั้งกำหนดผลในระยะสั้นอย่างไร ระยะยาวอย่างไร

"ไม่ใช่ว่าทุกโครงการจะวัดค่าได้ ดังนั้น อาจจะเริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ และค่อยขยายไปใหญ่ ๆ คือ ล้มเหลวเร็วเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ถ้าไม่ได้ผลก็พับไป"

"ราเกซ" กล่าวเสริมว่า การวัดค่าไม่ได้เป็นปัญหามาก เพราะแม้ว่าจะมีพาร์ตเนอร์มานำเสนอโซลูชั่นใหม่ ๆ แต่ประเมินไม่ได้ว่าจะส่งผลอย่างไร ให้ผลตอบแทนเท่าไหร่ จึงทำการตัดสินใจลงทุนได้ยาก ดังนั้น ก็จะกลับมาที่คนต้องมีความรู้ เพราะเทคโนโลยีบางอย่างอาจจะล้าสมัยเร็ว อย่างไรก็ตาม IOT ไม่ใช่เรื่องยากที่จะยกระดับ แต่ความคล่องตัวของบุคลากรและองค์กรที่จะตามเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ