รถยนต์เซลล์พลังงานเชื้อเพลิง โตโยต้า

Toyota เสริมแกร่ง FVC รับความแพร่หลายปี 2020

อัปเดตล่าสุด 29 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 1,735 Reads   

Toyota เตรียมเสริมกำลังการผลิตรถยนต์เซลล์พลังงานเชื้อเพลิง หรือ FCV (Fuel Cell Vehicles) ในช่วงปี 2020 ด้วยตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตจากนโยบาย NEV ของจีน และแนวโน้มของตลาดโลก 

TOYODA GOSEI สร้างโรงงานใหม่กลางหุบเขาเมืองอินาเบะ จังหวัดมิเอะ เพื่อรองรับการผลิตถังไฮโดรเจนสำหรับ FCV ซึ่งแม้จะยังไม่มีการเปิดเผยว่ามีลูกค้าเป็นใคร แต่ก็เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นการลงทุนเพื่อตอบรับจำนวนยานยนต์ FCV ที่มีมากรุ่นขึ้น โดยได้วางแผนเริ่มผลิตถังไฮโดรเจนทั้งหมด 3 แบบ คือแบบเรซิ่น คาร์บอนไฟเบอร์ และไฟเบอร์กลาส ในช่วงปี 2020 นี้


 

หัวหน้าสาขา Inabe Plant กล่าวว่า “เราต้องการจะเป็นโรงงานที่ล้ำยุคเข้ากับภาพลักษณ์ของอีโคคาร์” ด้วยเหตุนี้เอง TOYODA GOSEI จึงตั้งเป้าให้ Inabe Plant เป็นโรงงานตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อม และตั้งเป้านำพลังงาน 20% ที่ใช้ในการผลิตกลับมาใช้ใหม่ โดยหลังคาอาคารติดตั้งโซล่าเซลล์ 1,600 กิโลวัตต์, ใช้กังหันลมและเซลล์เชื้อเพลิงในการกำเนิดพลังงาน รวมถึงใช้พลังงานความร้อนใต้พื้นดินในระบบปรับอากาศ

ส่วนทางด้าน Toyota นั้น ได้แสดงความมั่นใจในงานแถลงข่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า FCV จะกลายเป็นที่แพร่หลายในช่วงปี 2020  และได้ตัดสินใจเสริมศักยภาพการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของ FCV เช่น Fuel Cell Stacks

โดยทาง Toyota ยังคงยืนยันเป้าหมายเดิมที่เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2015 ว่า “จะตั้งเป้ายอดขาย FCV ทั่วโลกที่ปีละ 30,000 คัน ในช่วงปี 2020” ซึ่งส่งผลให้ทางบริษัทตัดสินใจเพิ่มกำลังผลิต FCV มากขึ้นไปอีก 10 เท่า นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแนวทางการพัฒนาสภาพแวดล้อมและอุปกรณ์การผลิตให้เป็นไปตาม “The Basic Hydrogen Strategy” ของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งออกมาเมื่อปลายปี 2017 อีกด้วย

ส่วนความเคลื่อนไหวด้าน FCV นอกประเทศญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลจีนได้ประกาศผลิต FCV ให้ได้ 3,000 คันในปี 2020 และเพิ่มให้ขึ้นไปอยู่ที่ 1 ล้านคันในปี 2030 และเป้าหมายอื่น ๆ ในอนาคต

นอกจากนี้ ในงาน CES Asia งานจัดแสดงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสินค้า IT ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศจีนเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ยังได้มีการจัดแสดง “NEXO” รถ FCV ของ Hyundai และได้เน้นทำ PR ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เทคโนโลยีการฟอกอากาศในระดับฝุ่นละออง นอกจากนี้ Hyundai ยังได้ตัดสินใจพัฒนาเทคโนโลยี FCV ร่วมกับ Audi อีกด้วย

ส่วนทางด้าน Honda เอง ก็มีการประสานความร่วมมือกับค่ายอื่นในการพัฒนา FCV อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวแทนผู้ผลิตชิ้นส่วนค่ายญี่ปุ่นที่ซัพพลายชิ้นส่วนให้กับ FCV “MIRAI” ได้กล่าวว่า “แนวโน้มของ FCV กำลังเริ่มเป็นที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ผลิตนอกประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งเราเองก็อยากจะขยายการซัพพลายของเราให้มากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ FCV แพร่หลายหรือไม่ก็คือสถานีไฮโดรเจน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูงและซ่อมบำรุงได้ยาก ทำให้การวางโครงสร้างพื้นฐานของทั้ง FCV และรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ Toyota ตัดสินใจจะทุ่มเททั้งในด้านการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และ FCV ในแผนธุรกิจระยะยาวในอีก 10 - 20 ปีหลังจากนี้