ความร่วมมือในการลงทุนธุรกิจระหว่าง จีน ญี่ปุ่น และไทย

อัปเดตล่าสุด 1 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 314 Reads   
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชนจีนประจำประเทศไทยและสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้จัดงานสัมมนาหัวข้อ “China – Japan Cooperation on the Eastern Economic Corridor of Thailand” ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 สืบเนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและญี่ปุ่นได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอกชนระหว่างจีน - ญี่ปุ่น ในประเทศที่สาม เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ณ กรุงโตเกียว โดยบันทึกความเข้าใจได้กล่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางธุรกิจของภาคเอกชนจีนและญี่ปุ่นภายใต้กรอบเจรจาระดับสูงด้านเศรษฐกิจ และยังระบุอีกว่าทั้งสองประเทศจะร่วมกันสำรวจตลาดและภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่สามที่ภาคเอกชนจีนและญี่ปุ่นจะร่วมลงทุน การสัมมนาในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นจุดหมายสำคัญของการร่วมมือทางเศรษฐกิจดังกล่าว
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ด้วยการใช้ประโยชน์จาก "Rising Asia" ที่มาพร้อมโอกาสต่างๆ เราสามารถร่วมกันผลักดันศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของเอเชียใน "เศรษฐกิจโลกยุคใหม่" ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนญี่ปุ่น – จีนในประเทศที่สามเป็นความคิดริเริ่มที่จะสามารถมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในความก้าวหน้าของเอเชีย และด้วยความที่ประเทศไทยมีความเป็นมิตรที่ดีกับประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีนมาเป็นเวลายาวนาน ความเป็นมิตรต่อกัน จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการลงทุนธุรกิจระหว่าง จีน ญี่ปุ่น และไทย ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน และการดำเนินธุรกิจ ให้เป็นไปได้อย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น”
 
นายหนิง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาสาธารณรัฐประชาชนจีนและ นายชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาและมีนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก นายหลี่ จื้อกัง รองประธานสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน-ไทย ประธานกรรมการ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) และนายอิซาโอะ คุโรดะ รองประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ/ประธานคณะกรรมการการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และประธานบริษัท บริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนี (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมเสวนาในหัวข้อ ความเป็นไปได้ในการร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของจีนและญี่ปุ่นในการลงทุนในอีอีซี
 
“จีนและไทยต่างเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันและประชาชนต่างใกล้ชิดสนิทสนมดังสมาชิกในครอบครัว พัฒนาการความร่วมมือทวิภาคีก็มีแนวโน้มดีขึ้นตลอด 43 ปี ตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน นำมาซึ่งผลสำเร็จทางเศรษกิจ การค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความร่วมมือระหว่างประชาชนกับประชาชน การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความร่วมมือในสาขาอื่นๆ เราเชื่อว่าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทยจึงจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการเพิ่มพูนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ตลอดจนการยกระดับและคุณภาพของการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ซึ่งผู้นำจีน ญี่ปุ่น และไทยต่างให้ความสำคัญอย่างมากต่อความร่วมมือไตรภาคีที่ทั้งมีความสำคัญอย่างยิ่งและมีโอกาสในวงกว้าง ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐของทั้งสามประเทศจึงควรเพิ่มการสื่อสารด้านนโยบายระหว่างกัน รวมถึงการให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกแก่บริษัทของทั้งสามประเทศ และส่งเสริมให้ความร่วมมือในโครงการเฉพาะเจาะจงต่อไป” กล่าวโดย  นายหนิง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
 
“ใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา กว่า 5,000 กิจการของญี่ปุ่นได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย และโดยเฉพาะในพื้นที่
อีอีซี ซึ่งต่างก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐิจให้กับประเทศไทย รัฐบาลญี่ปุ่นจะยังคงผลักดันและสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจของภาคเอกชนญี่ปุ่นในประเทศไทยต่อไป รวมไปถึงการลงทุนในโครงการต่างๆ ในพื้นที่โครงการอีอีซี อีกทั้งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นมีความประสงค์ที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างภาคเอกชนญี่ปุ่น จีน และไทย” กล่าวโดย นายชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
 
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก ทิ้งท้ายว่า “เจตนารมณ์ของบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับจีนในประเทศที่สามจะช่วยส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าในการพัฒนาเอเชียอย่างมหาศาล ประเทศไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในความร่วมมือดังกล่าว และเชื่อมั่นว่าที่โครงการอีอีซี ของไทยจะเป็นส่วนสำคัญในการนำความร่วมมือดังกล่าวสู่การลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม”