ทำเนียบหัวบันไดไม่แห้ง ธุรกิจต่างชาติจองคิวตีตั๋ว EEC

อัปเดตล่าสุด 21 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 435 Reads   

หัวบันไดไม่แห้ง ภายหลังพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ประกาศบังคับใช้ นักธุรกิจ นักลงทุน พ่อค้ารายยักษ์ “หันหัว” มายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อปักหลัก-ปักฐานเครือข่ายธุรกิจเป็นระลอกคลื่น

โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จึงเป็น “จุดพลิก” ที่เป็น “จุดเปลี่ยน” ให้กับเศรษฐกิจไทย “เนื้อหอม” อีกครั้ง นับตั้งแต่ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” ในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ “โชติช่วงชัชวาล” ก่อนเศรษฐกิจไทยจะตกต่ำ “สุดขีด” ในช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง

ปรากฏการณ์ “หัวบันได (ทำเนียบรัฐบาล) ไม่แห้ง” เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย “ทีมเศรษฐกิจ” ที่มี “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี เป็น “แม่ทัพเศรษฐกิจ” กับ “ขุนพล” อย่าง “ดร.อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม และ “ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการอีอีซี “ปลุกปั้น” โครงการ EEC ขึ้นมา

ก่อนจะเริ่มแตกใบอ่อน-เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้องค์กรทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะนักธุรกิจ-นักลงทุนที่ติดสอยห้อยตามตัวแทนรัฐบาลต่างประเทศร่วมวง “เปิดโต๊ะ” เจรจา “โอกาสทางธุรกิจ” ในประเทศไทยถึงทำเนียบรัฐบาล

คิวทางธุรกิจแถวยาวเหยียด-แน่นเอียดตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม ณ วินาทีที่ “ดร.สมคิด” เปิดฟลอร์ให้ (ว่าที่) หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ-คณะนักธุรกิจ-บริษัทชั้นนำของเกาหลีซักไซ้ถึงความเสี่ยง-โอกาสการลงทุนในประเทศไทย ที่โรงแรมหรูใจกลางเมือง

ก่อน “ดร.สมคิด” จะกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Korea-Thailand 60th Anniversary of Diplomatic Relation : Maekyung Thailand Forum เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางนักธุรกิจ-นักลงทุนเกาหลีกว่า 170 คน

ก่อนหน้านี้ 1 วัน “คณะนักธุรกิจเกาหลี” นำโดยนายเพก อุน-ยู (H.E. Mr.Paik Ungyu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงานเกาหลีใต้ ได้เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เกาหลีใต้ ที่ทำเนียบรัฐบาล

อีก “ปีกหนึ่ง” ภายในทำเนียบ “บิ๊กบอส” บริษัทแอร์เอเชีย นายโทนี่ เฟอร์นันเดส และ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ เข้าพบ “ดร.สมคิด” เปิดห้อง-ปิดข้อตกลงทางธุรกิจของสายการบินแอร์เอเชีย-เบอร์ใหญ่แห่งแถบภูมิภาคอาเซียน เป็นการกลบข่าวการถอนการลงทุน-ตอกย้ำว่าบริษัทแอร์เอเชียจะร่วมหัวจมท้ายลงทุนในพื้นที่ EEC แน่นอน ลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน มูลค่ากว่า 150 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐและเป็น “ตัวกลาง” ดึง “พาร์ตเนอร์” ทางธุรกิจมาร่วมเปิด “hub low cost airline”

ระหว่างวัน นายอูลริค ซาเกา (Ulruch Zachau) ผู้อำนวยการธนาคารโลก (World Bank) ประจำประเทศไทย มาเลเซีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และคณะวิจัยการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (doing business) เดินสายเข้า-ออกตึกไทยคู่ฟ้า-ตึกบัญชาการภายในทำเนียบ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์-ดร.สมคิด-ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี-มือกฎหมายรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

ถัดถอยหลังไปอีก 1 วัน…15 พ.ค.61นายโฮเซ่ วินญัลส์ ประธานคณะกรรมการกลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เข้าหารือกับ “ดร.สมคิด” เพื่อขอโอกาสสนับสนุนทางการเงินให้กับนักลงทุนเพื่อลงทุนใน EEC

14 พ.ค. 61 “ดร.สมคิด” เป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันนางแครี แลมและคณะผู้บริหารฮ่องกง ที่เลอ นอร์มังดี รร.แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ อย่างชื่นมื่น

ภายหลัง นายชุย ไซ ออน ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษมาเก๊า สาธารณรัฐประชาชนจีน พบ พล.อ.ประยุทธ์-ดร.สมคิด ในโอกาสเยือนประเทศไทย 10 พ.ค. 61

3 พ.ค. 61 Mr.Tadashi Maeda ประธานบริหารธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) รายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าในการผลักดันโครงการต่าง ๆ ใน EEC เน้น triple win ทั้งไทย ญี่ปุ่นและจีน ให้แก่ “พล.อ.ประยุทธ์-ดร.สมคิด” รับฟัง

1 พ.ค. 61 นายโทชิมิตสึ โมเทกิ (H.E. Mr.Toshimitsu Motegi) รัฐมนตรีประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น รุกทางเศรษฐกิจ-ขอ “คำสัญญา” จาก “ดร.สมคิด” เพื่อให้ไทยเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (CPTPP)

ขณะที่เดือนเมษายน “พล.อ.ประยุทธ์-ดร.สมคิด” ต้องต้อนรับอาคันตุกะจากองค์กรระหว่างประเทศ-รัฐบาลมหาอำนาจ-นักธุกิจ-พ่อค้ายักษ์ใหญ่ของโลก

25 เม.ย. 61 นายปีร์กะ ตาปีโอละ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ แม้ประเทศไทยจะอยู่ในสภาวะประชาธิปไตยถูก “แช่แข็ง” แต่เมื่อสหรัฐ-ญี่ปุ่นไม่สามารถเบือนหน้าหนีออกจากเศรษฐกิจไทยได้ ประเทศสมาชิกยุโรปจึง “ไม่ยอมตกขบวน” เช่นกัน

“บิ๊กอีเวนต์-ดีลเศรษฐกิจ” ที่ดังกระหึ่มไปทั่วโลก คือ การเดินทางมาเจรจา-ตกลงทางธุรกิจของ นายแจ็ก หม่า (Jack Ma) ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทอาลีบาบากับรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 61

โดย “ดร.สมคิด” เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับ Alibaba Group ด้าน Smart digital hub and digital transformation strategic partnership โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการส่งออก

ตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม จึงเป็นเดือนแห่งการต้อนรับขับสู้คณะนักธุรกิจจากทั่วโลก โดยมีโครงการ EEC เป็นแม่เหล็ก-แรงดึงดู