Brother ยกกลุ่มธุรกิจ Machine Tools เสาหลักที่ 2

อัปเดตล่าสุด 21 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 822 Reads   

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ยอดผลิต Machine Tools ของบริษัท Brother Industries ได้มีจำนวนครบ 150,000 เครื่อง ยกระดับขึ้นเป็นเสาหลักที่ 2 ของบริษัทถัดจากธุรกิจจักรเย็บผ้า โดยมีลูกค้าคืออุตสาหกรรม IT และยานยนต์เป็นแรงผลักดันในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จนส่งผลให้มียอดการผลิตสูงขึ้น และกลายเป็นธุรกิจที่อุ้มชู Brother Industries ได้ทั้งบริษัท

เจาะตลาดสินค้าขนาดเล็ก

ด้วยองค์ความรู้จากการผลิตเกลียวตัวเมีย (Female Screw) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนภายในจักรเย็บผ้า ส่งผลให้ Brother ผลิต Machine Tools ขายให้ต่างประเทศตั้งแต่ปี 1961 ก่อนเริ่มวางจำหน่าย CNC Tapping Center อย่างเป็นทางการในฐานะหนึ่งในธุรกิจของ Brother ตั้งแต่ปี 1985

นับแต่นั้นเป็นต้นมา Brother ก็เน้นไปที่การผลิต Spindle Taper เบอร์ 30 โดยมีจุดแข็งในด้านความเร็วการผลิต ซึ่งในช่วงหลังของทศวรรษที่ 80 นี้เอง ที่ Brother ได้รับออเดอร์จากผู้ผลิตรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในเอเชีย ก่อนจะถูกเรียกขานว่าเป็นซัพพลายเออร์เบอร์ 1 ในช่วงครึ่งหลังทศวรรษที่ 90

จุดเปลี่ยนในปี 2007

ในทศวรรษที่ 90 Brother Industries ได้ขยายธุรกิจไปยังกลุ่มผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ ก่อนจะขยายอีกครั้งไปยังผู้ผลิตโทรศัพท์เมือถือในช่วงปี 2000 ก่อนจะมาถึงจุดเปลี่ยนในปี 2007 ที่ iPhone ออกจำหน่าย ด้วยกระบวนการผลิต Metal Housing ด้วย Machine Tools ซึ่งกลายเป็นที่แพร่หลายจนบริษัทได้รับออเดอร์จากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้น สมาร์ทโฟนยังเป็นสิ่งที่ใหม่ ทำให้ความต้องการสมาร์ทโฟนยังไม่แน่นอนนัก ด้วยเหตุนี้เอง Brother Industries จึงตัดสินใจเข้าสู่ตลาดยานยนต์ที่มีความมั่นคงสูงกว่า
ถัดมาในปี 2013 ที่บริษัทได้วางแผนผลิต Machining Center รุ่นใหม่ในซีรี่ย์ “SPEEDIO” ซึ่งออกแบบมาสำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เฉพาะอย่าง ซึ่งแม้จะมีตลาดที่แคบ แต่ก็มีผลิตภัณฑ์อื่นที่เป็นคู่แข่งอยู่บ้าง

ซึ่งผลลัพธ์คือในปีงบประมาณ 2017 ที่ธุรกิจเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม IT ทำยอดได้ดีนั้น ก็มีธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ทำยอดได้ไม่แพ้กัน ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในการกระจายธุรกิจไม่ให้พึ่งภาค IT เพียงจุดเดียว อีกทั้งยังมีกำไรถึง 14,100 ล้านเยน จากธุรกิจทั้งหมดของบริษัทซึ่งมียอดอยู่ที่ 68,600 ล้านเยน

ปัจจุบัน Brother Industries อยู่ระหว่างการเสริมกำลังการผลิต โดยเดิมทีนั้น การผลิตให้ได้ 50,000 เครื่องนั้นใช้เวลาประมาณ 6 ปี อย่างไรก็ตาม อีก 50,000 เครื่องถัดมานั้น ใช้เวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น และด้วยโรงงานหมายเลข 6 ที่เมืองคาริยะ จังหวัดไอจิ ซึ่งเริ่มทำงานในปี 2017 นี้เอง ที่ทำให้กำลังผลิตของ Brother Industries เพิ่มขึ้น

สู่ 200,000 เครื่อง

กรรมการผู้จัดการอาวุโส Mr. Tasuku Kawanabe กล่าวว่า “อยากยกระดับการผลิต ให้มียอดถึง 200,000 เครื่องได้เร็วกว่าเมื่อครั้ง 150,000 เครื่อง” และมองว่าความต้องการที่ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เอนเอียงไปทางรถยนต์ไฟฟ้านั้น “จะไม่ส่งผลร้ายแรงต่อบริษัทในเร็ว ๆ นี้”