ก้าวถัดไปของธุรกิจแม่พิมพ์

อัปเดตล่าสุด 4 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 714 Reads   

อุตสาหกรรมแม่พิมพ์นั้น เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์และเซมิคอนดัคเตอร์ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการก้าวเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ อยู่ระหว่างการเตรียมรับมือคลื่นลูกใหม่ ซึ่งในบทความนี้ จะนำเสนอแนวทางของผู้ผลิตแม่พิมพ์รายต่าง ๆ ให้เห็นกันว่าเป็นเช่นไร

มูลค่าการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จาก “Machinery Statistics” ซึ่งจัดทำโดย METI ระบุว่า มูลค่าการผลิตแม่พิมพ์ของประเทศญี่ปุ่นนั้นเคยขึ้นสูงสุดถึง 487,900 ล้านเยนเมื่อปี 2006 อย่างไรก็ตาม ด้วยผลกระทบจาก Lehman Shock ส่งผลให้มูลค่าการผลิตในปี 2009 ตกลงมาเหลือเพียง 315,900 ล้านเยน และแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลา 4 ปี ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวจนกลับมาอยู่ที่ 397,800 ล้านเยนในปี 2016

กรรมการผู้จัดการ Japan Die & Mold Industry Association (JDMIA) กล่าวแสดงความเห็นว่า “การพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างเช่น ยานยนต์ แทบจะหยุดนิ่งหลังการทรุดตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์มีความเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เป็นอย่างมาก ส่งผลให้การฟื้นตัวจำเป็นต้องใช้เวลา ซึ่งแม้ปัจจุบันจะฟื้นตัวกลับมาได้ราว 80% ก่อน Lehman Shock แล้ว แต่ก็ยังคงต้องฟื้นฟูกันต่อไป”

อย่างไรก็ตาม หากถามความเห็นจากฟากผู้ผลิตแม่พิมพ์ จะได้รับคำตอบว่าความต้องการแม่พิมพ์เริ่มจะกลับมาคึกคัก โดย Mr. Daisuke Honda ประธานบริษัท Bentom ผู้ออกแบบและทดสอบแม่พิมพ์กล่าวแสดงความเห็นอย่างพึงพอใจว่า “ยอดการสั่งซื้อเป็นไปได้ดี การซื้อขายก็มีเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มนี้ก็ปรากฏให้เห็นทั่วภาคอุตสาหกรรมแม่พิมพ์อีกด้วย” ส่วนอีกรายที่ออกมาแสดงความเห็นคือ Mr. Yasuo Izumi ประธานบริษัท Shin-Nihon Tech ซึ่งกล่าวแสดงความเห็นว่า “แรงผลักดันสู่การฟื้นฟูคือแม่พิมพ์สำหรับงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความแพร่หลายของ IoT และรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้น” ซึ่งจากความเห็นหลัง จะพบว่านอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์แล้วยังมีอุตสาหกรรมอื่นที่เป็นปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกัน

พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ประธาน Honda แห่งบริษัท Bentom ยังได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมถึงการเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงจากอุตสาหกรรมอื่นไว้ว่า “แม้ในปัจจุบันจะมีความคืบหน้าในการพัฒนาตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ เพื่อรองรับการพัฒนาแม่พิมพ์สำหรับงาน Die Casting ขนาดใหญ่แล้วก็จริง ก็ยังจำเป็นมีความจำเป็นต้องพัฒนาในด้านอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้สามารถรับมือได้แม้อุตสาหกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เฉกเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เปลี่ยนไปเพราะการมาของรถยนต์ไฟฟ้า”

ผู้รับผิดชอบของบริษัท Nagatsu ผู้ผลิตแม่พิมพ์ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์และกล้องดิจิตอลเอง ก็ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญในการออกแบบแม่พิมพ์อื่น ๆ ไว้ว่า “แม้ในปัจจุบันจะมียอดออเดอร์แม่พิมพ์สำหรับชิ้นส่วนเครื่องยนต์และยานยนต์เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยแนวโน้มของความต้องการอุปกรณ์กล้องและเซ็นเซอร์อื่น ๆ สำหรับยานยนต์ที่จะสูงขึ้นในอนาคตนั้น ก็ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเอง ขัดเกลาทักษะการออกแบบแม่พิมพ์รูปทรงอื่น ๆ ให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในจุดนี้”

ส่วนทางด้าน Nagara นั้น Mr. Takashi Hayase ประธานบริษัทมองว่ากุญแจสำคัญสำหรับงานแม่พิมพ์คือวัสดุ และวัสดุที่กำลังตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งต้องการทั้งน้ำหนักเบาและความทนทานคือ High Tensile Steel จึงได้แสดงความเห็นว่า “งานผลิตแม่พิมพ์สำหรับ High Tensile Steel นั้น แม้จะยากขึ้นก็จริง แต่หากสามารถผลิตแม่พิมพ์ที่ดีออกมาได้ ก็จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มยอดออเดอร์ได้อย่างมากในอนาคต”
บทบาทของ 3D ปรินเตอร์

ปัจจุบัน แนวคิดการใช้แม่พิมพ์แบบเรซิ่น ร่วมกับแม่พิมพ์โลหะที่ผลิตจาก 3D Printer กำลังกลายเป็นที่ได้รับความสนใจ รวมถึงอยู่ระหว่างถูกเสนอให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกจากยานยนต์อีกด้วย

NAKATSUJI KANAGATA KOGYO ได้นำเสนอแนวคิดการใช้แม่พิมพ์เรซิ่นและแม่พิมพ์โลหะ ซึ่งผลิตขึ้นด้วย 3D Printer ในการนำไปใช้กับเครื่องเพรส เพื่อให้ได้คุณสมบัติในการปั๊มงานโลหะแผ่นที่มีความละเอียดมากยิ่งขึ้น โดย Ms. Kayo Toya ผู้จัดการบริษัท ได้อธิบายจุดเด่นของวิธีการนี้ว่า “หากใช้ 3D Printer ก็จะสามารถผลิตดีไซน์ที่ไม่สามารถผลิตด้วยแม่พิมพ์โลหะได้ อีกทั้งยังลดเวลาที่ใช้ลงอีกด้วย” ซึ่งปัจจุบัน วิธีการที่ว่านี้ ถูกใช้ในการผลิตชิ้นส่วนตกแต่งภายในรถไฟอยู่

ส่วนทางด้าน Komai Kousakusho ซึ่งมีแม่พิมพ์เครื่องเพรสสำหรับยานยนต์เป็นผลิตภัณฑ์หลักนั้น ผู้รับผิดชอบได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “แม้จะมีมีการพูดคุยหารือมากขึ้น แต่ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปเป็นร่าง” ก่อนแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “อย่างไรก็ตาม ยอดออเดอร์ที่มากขึ้นในช่วงหลัง คือแม่พิมพ์สำหรับงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์การแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้” ซึ่งทางบริษัท ที่มีจุดแข็งคือความสามารถในการผลิตสินค้าจำนวนทีละน้อยนั้นได้แสดงความมั่นใจว่า หากสามารถผลิตงานตามสั่งได้แม้ในจำนวนน้อยแล้ว ก็จะสามารถดึงดูดลูกค้ารายใหญ่ได้

สู่ภาคอุตสาหกรรมใหม่

Noda Kanagata ผู้ผลิตแม่พิมพ์อีกรายที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นลูกค้าหลัก ตัดสินใจรับออเดอร์จากอุตสาหกรรมยานบินเพิ่มเป็นอุตสาหกรรมใหม่ และมีกำหนดไปออกบะในงาน 2018 Farnborough Airshow ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ ทางบริษัทยังแสดงความต้องการจะดึงดูดลูกค้าจากอุตสาหกรรมจรวด ด้วยการเปิดให้ทดลองสั่งผลิตอีกด้วย

ปัจจุบัน สมาชิกกว่า 70% ของ JDMIA มีความเกี่ยวพันกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอย่างมาก และได้รับออเดอร์จากความต้องการผลิตชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์รุ่นใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตบางส่วน ก็เริ่มจะมองในระยะยาว และวางแผนเตรียมลงทุนในด้านอื่นเพิ่ม

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต ซึ่งสำหรับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์แล้วถือว่าเป็นเรื่องที่คาดการณ์ให้แม่นยำได้ยากอีกด้วย

JDMIA กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ปัจจุบันแนวโน้มการฟื้นฟูจะเป็นไปได้ดี แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่อนาคตนั้นยังไม่แน่ชัด” ซึ่งสำหรับผู้ผลิตแม่พิมพ์รายต่าง ๆ แล้ว สิ่งสำคัญจึงเป็นการติดตามแนวโน้มนี้ ไปพร้อมกับการเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต