คุยกับ ดร. พีรพงษ์ เกียรติศักดิ์ศรี สถาบันยานยนต์ เรื่องแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

อัปเดตล่าสุด 2 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 759 Reads   

“หัวใจหลักของรถยนต์ไฟฟ้าคือแบตเตอรี่” คำพูดจาก ดร.พีรพงษ์ เกียรติศักดิ์ศรี ผู้จัดการแผนกวิจัยอุตสาหกรรมสถาบันยานยนต์ ที่เปิดเผยกับ M Report ถึงความสำคัญของแบตเตอรี่ที่มีต่อรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการต่อยอดแบตเตอรี่ต้นแบบที่มุ่งไปสู่การวิจัยเพื่อให้มีรถยนต์ไฟฟ้าโดยคนไทย ประเทศไทยจะผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเองได้หรือไม่ จำเป็นขนาดไหน และจะรับมือกับสารพิษอย่างไร ฟังคำตอบจาก ดร. พีระพงษ์ ได้เลย

ความแตกต่างระหว่างแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง

โดยปกติแบตเตอรี่รถยนต์ธรรมดาจะมีกำลังไฟฟ้าที่ 12 โวลท์ และจ่ายไฟเพื่อที่จะหล่อเลี้ยงรถยนต์ทั้งหมด ในส่วนของอุปกรณ์ที่ต้องใช้ไฟ เช่น หลอดไฟภายในรถ เครื่องเสียง แต่แบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้เก็บพลังงานเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน เป็นตัวที่ทำให้ล้อหมุนได้ ดังนั้นจึงเป็นแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ขับเคลื่อนด้วยการใช้ไฟฟ้าแรงสูง

ส่วนในเรื่องราคา แน่นอนว่าต่างกันเพราะด้วยเรื่องของขนาด ถ้าเป็นแบตเตอรี่ของเดิมที่เป็นแบตเตอรี่ 12 โวลท์ก็จะเป็นประเภทตะกั่วกรด ซึ่งผู้ผลิตในบ้านเราสามารถผลิตได้กันเป็นจำนวนมากแล้ว มีประมาณ 12 ถึง 15 ราย แต่ถ้าเป็นของ แบตเตอรรี่ประเภทลิเธียมไอออนยังมีจำนวนน้อยราย ประเทศไทยยังผลิตเองไม่ได้ ทำให้ราคาก็จะค่อนข้างสูง ราคาตอนนี้ปัจจุบันสำหรับรถยนต์นั่งอยู่ที่ประมาณ 3 แสนถึง 8 แสนบาท

ระยะเวลาการใช้งานของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

แบตเตอรี่ทุกประเภทมันจะมีอายุการใช้งานอยู่ อายุการใช้งานก็จะมีสองอย่างก็คือถึงรอบก่อนหรือว่าถึงเวลาก่อน ซึ่งปกติแล้วอายุของแบตเตอรี่ ผู้ผลิตก็จะรับประกันอยู่ที่ 5 ถึง 8 ปีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับประเภทของแบตเตอรี่

การต่อยอดเชิงพาณิชย์จะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ อย่างไร และมีปัจจัยเกื้อหนุนอะไรบ้าง

อย่างที่ทราบกันว่าปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีของการผลิตยานยนต์ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากที่เราใช้ตัวเครื่องยนต์เราก็เปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไฟฟ้า สถาบันยานยนต์ได้ทำการศึกษาแล้วพบว่าหัวใจหลักหรือชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า คือแบตเตอรี่ ซึ่งแบตเตอรี่นั้นมีต้นทุนมากกว่า 50% ของต้นทุนราคารถยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นที่มาของความสำคัญตรงนี้ การต่อยอดก็คือ เราได้จัดทำแบตเตอรี่ต้นแบบร่วมกับสวทช. และนักวิชาการที่มีความชำนาญ เพื่อที่จะได้ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อผู้ประกอบการได้รับการถ่ายทอดจากทางเรา เขาจะมองเห็นโอกาสว่าในการทำแบตเตอรี่ไฟฟ้านั้น ชิ้นส่วนไหนที่เขาสามารถใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงได้ หรือชิ้นส่วนไหนที่เขาอาจจะต้องหามาเพิ่มเติม ในส่วนนี้เราจะประชาสัมพันธ์และถ่ายทอดองค์ความรู้นับตั้งแต่การออกแบบ การผลิต กระบวนการผลิตรวมไปถึงการตรวจสอบ

ประเทศไทยมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

ก่อนอื่นต้องแบ่งออกเป็น 2 คำถามก่อนนะครับ คำถามแรกถามว่ามีความจำเป็นไหมที่ต้องมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อีกคำถามคือมีความจำเป็นไหมที่ต้องมีแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จริงๆแล้วผู้ผลิตทั่วโลกไม่ได้ผลิตแบตเตอรี่เพื่อสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ผู้ผลิตส่วนใหญ่มาจากการที่เป็นผู้ผลิตระบบกักเก็บพลังงานทั้งหมดแล้วจึงแยกเป็นสาขาของการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนใหญ่แล้ว ผู้เล่นรายใหญ่จะเป็นบริษัทเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โครงสร้างอาคาร และระบบสนับสนุนต่าง ๆ แต่ถามว่าประเทศไทยมีความจำเป็นไหม คำตอบคือ ณ ตอนนี้ทุกคนอาจจะมองว่ามันไม่ยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากปริมาณรถยนต์ไฟฟ้ามันยังน้อยอยู่ แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีนะครับ เพราะว่าโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตรถยนต์ในยุคถัดไป  ซึ่งหน่วยงานภาคต่าง ๆ ก็ได้ให้การสนับสนุนไม่ว่าจะเป็น BOI ก็ดี สรรพสามิตเองก็ดี ที่จะช่วยลดในเรื่องของภาษี

เนื่องจากว่าในตอนนี้มันยังเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยราคาของรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่สามารถแข่งขันกับรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ได้ ดังนั้นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้มันลดตรงนั้นลงมาได้ก็คือการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย ในฐานะของสถาบันยานยนต์ เราก็พยายามสนับสนุนทุกอย่างให้เกิด Local Content หรือว่าการผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้มากที่สุด โดยเป็นชิ้นส่วนที่มีการผลิตโดยผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงนะครับ ตรงนี้ถ้าประเทศไทยหรือ boi ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศได้น้อยที่สุด ต้องลดการนำเข้าแบตเตอรี่จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย คนไทยก็จะมีการจ้างงานเกิดขึ้น มีการเรียนรู้แลกเปลี่ยนความรู้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่มีความสำคัญมากนอกจากได้เพียงแค่ เม็ดเงินจากการลงทุนเพียงอย่างเดียว

โรงงานแบตเตอรี่ มาพร้อมกับอันตรายจากสารพิษ ดังนั้นเรามีการเตรียมรับมือกับสิ่งนี้อย่างไร

ทางสถาบันยานยนต์ได้ทำการศึกษา เราจะมีผลงานวิจัยออกมาในปีนี้นะครับ ในเรื่องของการศึกษาการจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้วสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน และจะมีการจัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้ตรงนี้ออกไปอีกครั้งนึง แต่ถ้าข้อมูลเบื้องต้นแล้ว จากตัวอย่างประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือประเทศอื่น ๆ การจัดการของเขาก็คือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รับซื้อคืนโดยทำการเปลี่ยนอะไหล่ให้ โดยเฉพาะอะไหล่แบตเตอรี่ ส่วนการจัดการของแบตเตอรี่ก็คือเค้าส่งออกไปยังโรงงานกำจัดแบตเตอรี่ของโลก เท่าที่ผมทราบนั้นจะมีอยู่ 2 แห่ง แห่งหนึ่งก็จะอยู่ที่ประเทศเบลเยี่ยมอีกประเทศหนึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นที่ไหน ก็จะเป็นการส่งออกไปในปริมาณที่ยังน้อยอยู่ ยังไม่ถึงขั้นที่จะมีโรงงานจัดการแบตเตอรี่ กลับมาที่บ้านเรา ที่ผ่านมาเราก็มีการขอมาตรฐานควบคุมตัวอุปกรณ์หรือวัตถุสินค้าที่ก่อให้เกิดมลพิษได้ ก็จะเป็นพวกแบตเตอรี่ลิเธียม ที่ยังมีอยู่ในอุปกรณ์ของพวกคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ตอนนี้เข้าใจว่าทางกรมโรงงาน ก็มีการปรับปรุงให้ครอบคลุมกับแบตเตอรี่ที่ใช้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอยู่

คิดว่ากระแสของรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นหรือลดลงอย่างไร

ปัญหาของของตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าที่มันไม่เกิดขึ้นก็เพราะว่ารถยนต์มีราคาสูง การที่ราคารถยนต์สูงนั้นส่งผลให้ค่าเบี้ยประกันอุบัติเหตุมีราคาแพงและการขายต่อมือสองได้ราคาต่ำ จึงเป็น 3 ปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ตอนนี้ ภาคอุตสาหกรรมเองก็คิดว่าราคาของแบตเตอรี่ที่เป็นสัดส่วน 50-60 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่ารถก็มีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อยๆ เพราะว่าพบว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่สมบูรณ์ ยังสามารถพัฒนาต่อได้อีก ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้ราคาแบตเตอรี่ค่อย ๆ ลดลงมา จากตอนแรกในปี 2010 แบตเตอรี่มีราคามากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของราคารถยนต์ไฟฟ้า ตอนนี้ก็มีแนวโน้มที่ลดลงเหลือ 50-60% ตรงนี้จะทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะถูกลงอีกด้วย ซึ่งก็จะเป็นแรงจูงใจที่จะทำให้ประชาชนเข้ามาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

 

อ่านต่อ

รีไซเคิลแบตเตอรี่ Nissan Leaf

ChargeNow ขยายเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า

ยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย MINE Mobility

เพิ่มกำลังผลิต Power Semiconductor รองรับรถยนต์ EV, PHV