โตโยต้าเตรียมปล่อย “Talking Cars” ในสหรัฐฯ ภายในปี 2021

อัปเดตล่าสุด 20 เม.ย. 2561
  • Share :
  • 589 Reads   

Toyota Motor Corporation เผยว่ามีแผนที่จะวางจำหน่ายรถยนต์ที่สามารถสื่อสารกันได้ (Talking Vehicles) ผ่านระบบสื่อสารไร้สาย (Short-range Wireless) ภายในปี 2021 โดยผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายนี้ยังกล่าวอีกว่า ด้วยเทคโนโลยีนี้อาจสามารถหยุดยั้งการเกิดอุบัติเหตุได้เป็นพัน ๆ ครั้งในหนึ่งปี

หลังจากผ่านการพัฒนามาเป็นทศวรรษสำหรับระบบ Vehicle-to-Vehicle Communication หรือ ระบบ V2V อันเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างรถยนต์ด้วยกัน ในที่สุดก็ได้รับการตอบรับจากตลาดด้วยแรงผลักดันจากโตโยต้า

โดยเป้าหมายของเทคโนโลยีตัวนี้คือ ให้รถยนต์สื่อสารกันได้ว่ารถอีกคันอยู่ที่ตำแหน่งใด มีความเร็วเท่าไร และมุ่งหน้าไปในทิศทางไหน จากนั้นรถยนต์คันอื่น ๆ ที่อยู่ละแวกเดียวกันสามารถ “รับรู้” ตำแหน่งของเพื่อนร่วมถนนได้จากเซ็นเซอร์ (ACC) และสามารถแจ้งเตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้าได้หากมีแนวโน้มที่จะชนกันเกิดขึ้นด้วยการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงความเร็วนั่นเอง

ทั้งยังประกาศอีกว่าพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยี V2V มาปรับใช้กับเทคโนโลยี V2I (Vehicle-to-Infrastructure) ที่ช่วยให้รถยนต์สามารถสื่อสารกับสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ บนถนนได้อีกด้วย

การรวมตัวกันระหว่างเทคโนโลยี V2V V2I และการสื่อสารกับผู้ใช้ท้องถนนคนอื่น ๆ อย่าง คนเดินเท้า หรือ คนที่กำลังปั่นจักรยาน นั้นรู้จักกันในชื่อ V2X (Vehicle-to-Any Communication)  หรือก็คือเป็นเทคโนโลยีที่สามารถขยายขอบเขตของการสื่อสาร เป็นเทคโนโลยีที่มีระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้อง เรดาร์ หรือเซ็นเซอร์จำกัดไว้ที่ระดับสายตาเท่านั้น

นอกจากนี้ V2X ยังถูกเรียกอีกว่าเป็นเครือข่ายข้างทาง คือ เป็นการสื่อสารแบบการฝากข้อมูลส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ให้กับรถยนต์คันที่ตามหลังมา โดยโตโยต้าได้เข้ามาขยายการทดสอบระบบนี้ด้วยเมื่อปี 2014

ทั้งนี้โตโยต้ามีแผนที่จะใช้เทคโนโลยี DSRC หรือ Dedicated Short-Range Communication ผ่านระบบ Wi-Fi ทั้งยังฝังชิปกระจายสัญญาณวิทยุความถี่ 5.9 GHz ที่มีระยะทำการสูงสุดถึง 300 เมตรรอบตัวรถด้วยกัน ด้วยเทคโนโลยีนี้จะสามารถทำให้รถยนต์สามารถลดปัญหาอุบัติเหตุจากท้องถนนได้มากทีเดียว

โตโยต้านับเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรก ๆ ที่นำเทคโนโลยี DSRC มาปรับใช้ผ่านระบบ V2V ภายในประเทศญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปลายปี 2015  ปัจจุบันมียอดการจำหน่ายรถยนต์ของโตโยต้าและเล็กซัสที่ติดตั้งระบบ V2V ทั้งสิ้น 92% หรือก็คือกว่า 100,000 คันนั่นเอง

ในปี 2017 โฟล์คสวาเก้นก็ได้ประกาศว่าจะเริ่มใช้เทคโนโลยีเดียวกันในยุโรปภายในปี 2019 แต่ในทางกลับกันฟอร์ดกลับบอกว่าจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ต่างจากนั้น คือ จะใช้ระบบเครือข่ายจากโทรศัพท์มือถือ 5G โดยมีชื่อเรียกว่า C-V2X อย่างไรก็ตามเทคโนโลยี C-V2X ที่ว่านี้ยังไม่ไม่มีกำหนดการเปิดตัวแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ที่ให้การสนับสนุน C-V2X อย่าง Qualcomm และ Hauwei ยังบอกอีกว่า DSRC นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัย ทว่าฝ่ายโตโยต้ากลับไม่คิดเช่นนั้น

“ผมรู้สึกว่า DSRC เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการทดสอบแล้ว มันไม่ได้ล้าสมัยสักหน่อย” จอห์น เคนนีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของศูนย์โตโยต้ากล่าว

ครั้งหนึ่งจอห์น เคนนีย์ เคยให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า “เราจำเป็นต้องเลือกเทคโนโลยีที่ไม่มีข้อจำกัด สิ่งที่เราทำในวันนี้เป็นการประกาศและบอกว่า เราจะใช้เทคโนโลยี DSRC และเราท้าให้ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ ใช้เหมือนกัน”

ในฐานะที่ DSRC เป็นระบบแบบ Peer-to-Peer (P2P) หรือเป็นระบบที่รถแต่ละคันต่างเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไว้เป็นของใครของมัน แต่สามารถเรียกใช้ข้อมูลจากรถยนต์คันอื่นได้หากรถยนต์คันนั้นแชร์ข้อมูลไว้ DSRC จึงไม่ค่อยไว้ใจในเครือข่ายภายนอกอย่างเครือข่ายมือถือสักเท่าไร อย่างไรก็ตามเมื่อได้ติดตั้งระบบ DSRC ลงในรถยนต์แล้ว มันก็สามารถใช้งานได้ตลอดจนกระทั่งอายุการใช้งานของรถยนต์สิ้นสุด

โตโยต้ายังเคยระบุว่า กว่าระบบของโทรศัพท์มือถือจะเทียบเคียงได้กับ DSRC ก็คงจะต้องเป็นอีกหลายปีต่อจากนี้

อย่างไรก็ตามทางกรมขนส่งของสหรัฐฯ ก็ยังต้องตัดสินใจว่าจะลงมติยอมรับข้อเสนอในการสนับสนุน “Talking Cars” หรือไม่เพราะยังมีความจำเป็นต้องขยายความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยอยู่ ทางโตโยต้าเองก็หวังว่าจะได้รับการตอบรับในเรื่องที่จะใช้เทคโนโลยี DSRC ภายในกลางปี 2020 อีกทั้งยังเผยว่า หวังว่าการประกาศแผนการดังกล่าวจะทำให้มีผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นให้การยอมรับและหันมาทำในแบบเดียวกันมากขึ้น

แม้ในเดือนธันวาคม ปี 2016 รัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามา ได้มีประกาศตรากฎหมายให้ผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายติดตั้ง V2V ภายในปี 2020 เนื่องจากประเมินแล้วว่าเทคโนโลยีนี้สามารถป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถชนได้ถึง 80% แต่ในรัฐบาลของทรัมป์ที่ไม่ได้ออกกฎหมายใหม่ใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนเรื่อง V2V เช่นกัน