3D Printing การเติบโตที่ไม่หยุดนิ่ง

อัปเดตล่าสุด 19 เม.ย. 2561
  • Share :
  • 748 Reads   

การนำเทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง หุ่นยนต์ หรือ Internet of Things (IoT) เข้ามาใช้ใน Smart factory เป็นสิ่งที่วงการอุตสาหกรรมต่างจับตามอง แต่อีกเทคโนโลยีที่เข้ามาเขย่าวงการอุตสาหกรรมไม่แพ้กัน เทคโนโลยีนั้นก็คือ 3D Printing นั่นเอง

ผลผลิตที่ไม่ธรรมดาจาก 3D Printing

ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ มีการนำเทคโนโลยี 3D Printing มาใช้ในการผลิตรถยนต์จนถึงขั้นสามารถวางจำหน่ายกันเลยทีเดียว อย่าง LSEV รถยนต์สองที่นั่งที่ใช้เวลาในการผลิตเพียงแค่สามวันเท่านั้น ใช่ครับ คุณอ่านไม่ผิด สามวันเท่านั้นเองในการผลิต LSEV หนึ่งคัน

การผลิตรถยนต์คันนี้ก็ไม่ธรรมดาเหมือนกัน เพราะว่า LSEV นั้นถูกผลิตมาจากเครื่องพิมพ์สามมิตินี่เอง โดยมีส่วนประกอบคือไนลอน กรด polylactic (ซึ่งเป็นเส้นใยพิมพ์ 3 มิติทั่วไป) และ ยางที่มีลักษณะเหมือน TPU สามารถวิ่งได้ 70กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะวางจำหน่ายให้เป็นเจ้าของได้ในเดือนเมษายนปีหน้านะครับ ใครที่อยากเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีวิธีการผลิตแบบไม่ธรรมดาก็ติดตามข่าวจาก เอ็ม รีพอร์ตนะครับ

ส่วนที่ประเทศญี่ปุ่นการนำเทคโนโลยี 3D Printing มาใช้ในการผลิตนั้นนับว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แถมยังเห็นประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีนี้จนต้องเตรียมโบกมือบ้ายบายแม่พิมพ์กันเลย อย่างที่ M Report เคยนำเสนอแล้วว่า TOTO บริษัทผู้ผลิต Precision Ceramics ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนเซรามิคสำหรับอุปกรณ์ที่นำไปผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ด้วย 3D Printer และยังสามารถผลิตชิ้นส่วนที่มีมิติซับซ้อนและรูกลวงได้ ทำให้น้ำหนักชิ้นส่วนลดลงแถมยังลดเวลาที่ใช้ในการผลิตลงอีกด้วย

3D Printing  เทคโนยีที่ยิ่งวันยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ

กระแสเทคโนโลยี 3D Printing เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ชัดจาก รายงานฉบับใหม่ของ International Data Corporation (IDC) ที่แสดงให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ภาพ 3 มิติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี พ.ศ. 2564 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 5 ปีที่ 22.4%

นายมุนชุนลิม นักวิเคราะห์ตลาดด้านการพิมพ์ภาพและการวิจัยด้านเอกสารของไอดีซีเอเชีย – แปซิฟิกได้บอกเอาไว้ว่า "จีนเป็นพลังขับเคลื่อนการเติบโตของ 3D Printing ในเอเชียแปซิฟิก รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ โดยมีโครงการมากมายที่สามารถดำเนินงานด้านการพิมพ์ 3 มิติ รวมถึงการสนับสนุนด้านการเงินจำนวนมาก ผลที่ตามมาคือ มีการใช้เทคโนโลยี 3D Printing เพิ่มขึ้นในประเทศอย่างต่อเนื่อง"

ซึ่งในรายงานระบุอีกว่าอุตสาหกรรมการผลิตแบบไม่ต่อเนื่องยังครองการผลิตด้วย 3D Printing ในภูมิภาค ด้วยการใช้จ่ายที่คาดว่าจะถึง 1.1 พันล้านเหรียญในปีพ. ศ. 2561 และ 1.7 พันล้านเหรียญในปี 2564 เลยล่ะครับ

แต่หลายท่านอาจจะไม่เข้าใจว่าการผลิตแบบไม่ต่อเนื่องคืออะไร การผลิตแบบไม่ต่อเนื่องเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า จะผลิตในปริมาณที่ไม่มาก มีการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตค่อนข้างบ่อย แต่สินค้าจะมีลักษณะแตกต่างกันตามคำสั่งซื้อของลูกค้า เช่น ของเล่น โทรศัพท์มือถือ เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ไปจนถึงเครื่องบินกันเลยทีเดียว

เทคโนโลยี 3D Printing จะถูกนำไปใช้ในการผลิตแบบไม่ต่อเนื่อง อย่างการทำแบบจำลอง (Protytpe), แม่พิมพ์ และผลิตภัณฑ์จำพวกชิ้นส่วนทดแทนเป็นหลัก โดยในรายงานฉบับนี้ได้บอกว่า ในปี 2018 มีการนำเทคโนโลยี 3D Printing ไปใช้กับงานสามประเภทนี้ถึง 68% ของการใช้จ่ายทั้งหมดในอุตสาหกรรมการผลิตแบบไม่ต่อเนื่อง

นายลิม ยังบอกอีกว่า "ผู้ผลิตในเอเชียแปซิฟิก ได้เริ่มประเมินค่าและดำเนินการผลิตสารปรุงแต่ง  (Additive Manufacturing) ที่ใช้สำหรับงาน 3D Printing ควบคู่ไปกับการผลักดันของรัฐบาลในการผลิตขั้นสูง" โดยอุตสาหกรรมที่จะเห็นการเติบโตของค่าใช้จ่ายการพิมพ์ 3 มิติในช่วงระยะเวลาห้าปีที่เร็วที่สุดคือการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) 50.2%และอุตสาหกรรมทรัพยากร 44.0%

นายลิมยังทิ้งท้ายไว้อีกว่า “ในขณะที่เรามุ่งสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 การพิมพ์แบบ 3D ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนกระบวนการผลิตและวิธีการทำสิ่งต่างๆ การปรากฎตัวของการพิมพ์แบบ 3D จะเปิดโอกาสให้เกิดความเป็นไปได้ไม่รู้จบและปลดปล่อยพลังอันน่าทึ่งในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก"

ประเทศไทยและแนวโน้มการใช้ 3D Printer

ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทยเรา คุณโดม นุชอนงค์ จาก ผู้สร้างเครื่อง DOME 3D Printer เกรดอุตสาหกรรม ส่งออกญี่ปุ่น, เยอรมัน และอีกหลายประเทศทั่วโลกกว่า 50 เครื่องในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ได้ให้สัมภาษณ์กับ M report  เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไทยและการที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ จะมีผลกระทบอย่างไรกับ 3D Printer หรือไม่

สำหรับอุตสาหกรรมไทยนั้นกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนจากการรับจ้างผลิตมาเป็นการผลิตสินค้าของตัวเอง นั่นหมายถึงว่าผู้ผลิตจะต้องทำการออกแบบ การสำรวจตลาด การวางแผนการผลิต ฯ ด้วยตัวเองทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนต่างๆเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องใช้ 3D Printer ทั้งสิ้น

ในมุมของผู้รับจ้างผลิตก็มีความจำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพของสินค้า ลดขั้นตอนการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ฯ จึงจะสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ เทคโนโลยี 3D Printer สามารถที่จะช่วยผลักดันให้เกิดสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้

ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีทางด้าน 3D Printer กำลังเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สามารถใช้วัสดุได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก โลหะ คอนกรีต หรือแม้แต่เซลเนื้อเยื่อของมนุษย์  จึงทำให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้มากมายไม่เว้นแม้แต่อะไหล่มนุษย์ ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้คนไทยหันมาสนใจกับเทคโนโลยีนี้ให้มากๆ เพราะมันจะมีผลต่อการแข่งขันในตลาดโลกในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

อุตสาหกรรมการผลิตในยุคต่อไปนั้นจะแข่งขันกันที่ความรวดเร็วในการผลิตซึ่งจะต้องมาพร้อมกับต้นทุนที่ต่ำและ Minimum order ต้องต่ำด้วย อีกทั้งการเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าก็ต้องรวดเร็ว การใช้วิธีการผลิตแบบเก่าซึ่งต้องใช้แม่พิมพ์ ต้องใช้ขั้นตอนการผลิตที่สลับซับซ้อนจะไม่สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้เลย ดังนั้น 3D Printer จึงเป็นเครื่องจักรที่จะเข้ามาตอบโจทย์เหล่านี้ได้

 

โอ้โห ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเลยนะครับ คงจะดีไม่น้อยนะถ้าเหล่าผู้ผลิตหันมาใช้การพิมพ์ด้วยเทคโนโลยี 3D Printing และยังเป็นการช่วยประหยัดต้นทุน เวลา และสร้างชิ้นงานที่หลากหลายได้มากมาย อีกทั้งยังถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการก้าวเข้าสู่การเป็น Smart Factory ไปสู่ Industry 4.0