คลอดแพ็กเกจเมืองใหม่ EEC 3 แอร์ไลน์ตั้งศูนย์ซ่อมฮับโลว์คอสต์

อัปเดตล่าสุด 30 เม.ย. 2561
  • Share :
  • 464 Reads   

"อุตตม" รมว.อุตฯ เปิดเบื้องหลังดีลอาลีบาบาลงทุนไทย เฟสแรกปักหมุดเช่านิคมเอกชน 10 ปี ตั้ง "ฮับโลจิสติกส์" ปิดดีล "แอร์เอเชีย" ตั้งศูนย์ซ่อม MRO ฮับโลว์คอสต์อู่ตะเภาตามรอยแอร์บัส แย้ม 2 ยักษ์แอร์ไลน์จากยุโรป-อเมริกา ต่อคิวเจรจา เดินหน้าตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน "อีอีซี-บีโอไอ-กระทรวงอุตฯ" จ่อคลอดพิมพ์เขียว-แพ็กเกจส่งเสริมลงทุน "เมืองใหม่" พ.ค.นี้

อาลีบาบาเช่าพื้นที่นิคม 10 ปี

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนการลงทุน Smart Digital Hub ของบริษัทอาลีบาบา ยักษ์อีคอมเมิร์ซจีน หลังได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับไทยเมื่อ 19 เมษายนที่ผ่านมาว่า แผนการลงทุนของอาลีบาบาจะแบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะเริ่มลงทุนพื้นที่ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า ด้วยระบบบริหารจัดการที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยในข้อตกลงได้มีการระบุเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่า ศูนย์แห่งนี้จะเน้นเพื่อรวบรวมและส่งออกสินค้าไทยออกไปตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนที่จะใช้ไทยเป็นฐานเพื่อส่งสินค้าจีน การส่งออกไปประเทศซีแอลเอ็มวีนั้นไม่ใช่เป้าหมายหลัก

สำหรับการลงทุนในเฟสแรกของอาลีบาบา เป็นการเช่าพื้นที่ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่บริเวณ จ.ฉะเชิงเทรา โดยจะปักหมุดก่อสร้างภายในปีนี้ ใช้เวลาประมาณ 1 ปีจะแล้วเสร็จ โดยทีมเฉพาะกิจของอาลีบาบาได้ประเมินทำเลการลงทุนเพื่อให้สอดรับกับบิสซิเนสโมเดลของบริษัท และการขนส่งสินค้า โดยจะอยู่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากในส่วนของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ต้องใช้เวลา 4-5 ปี จึงจะเสร็จเต็มรูปแบบ

"เท่าที่ทราบเบื้องต้น โครงการของอาลีบาบาต้องการพื้นที่ใช้สอยเป็นแสน ๆ ตารางเมตร โดยทางทีมอาลีบาบาเจรจาสัญญาเช่าไว้ 10 ปี แต่ทางแจ็ก หม่าบอกว่า 10 ปีสั้นไป เพราะเป้าหมายการลงทุนในเมืองไทยเป็นการมองระยะยาว ซึ่งคงจะขยายเวลาเช่าเพิ่มเกิน 10 ปี ส่วนเฟสต่อไปอาจจะเป็นการซื้อที่ดิน สำหรับเม็ดเงินลงทุนที่ประเมินไว้ 11,000 ล้านบาท ก็เฉพาะในเฟสแรก"

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระบุว่า นิคมอุตสาหกรรมที่อาลีบาบาได้มีการพิจารณา ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะ-WHA-ไทคอน สำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ตามที่ รมว.อุตฯ ปัจจุบันมีอยู่ 5 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม 304, เวลโกรว์, เกตเวย์ซิตี้, ทีเอฟดี และไทคอน

นายอุตตมกล่าวต่อว่า สำหรับแผนการลงทุนเฟส 2 ในปี 2562 อาลีบาบาจะเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการไทย/เอสเอ็มอี สามารถใช้พื้นที่นี้เสมือนแล็บหรือโรงงานต้นแบบเพื่อทำธุรกิจ พร้อมทั้งจัดทำโครงการ Digital Talent Traning เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างบิสซิเนสโมเดล จากแพลตฟอร์มออนไลน์ของอาลีบาบา รวมถึงการเชื่อมโยงไปยังวิทยาลัยอาลีบาบา ที่เมืองหางโจว เพื่อสร้างเน็ตเวิร์กเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยกับต่างประเทศ

ยืนยันได้สิทธิประโยชน์ปกติ

นายอุตตมกล่าวว่า การลงทุนของอาลีบาบาจะสร้างประโยชน์ร่วมกันอย่างมาก เพราะฝ่ายอาลีบาบาจะรวบรวมสินค้าไทยและกระจายส่งออกไป โดยเป็นการรับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ปกติที่บีโอไอกำหนด ใกล้เคียงกับผู้ประกอบการรายอื่น แต่ก็ไม่ได้เท่ากันทีเดียว เพราะเมื่อมายื่นขอส่งเสริมการลงทุน บีโอไอจะมีการพิจารณาว่าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการพัฒนาคน การพัฒนาเทคโนโลยีหรือไม่ ที่สำคัญคือฝ่ายไทยขอให้อาลีบาบาถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเข้ามาลงทุนของอาลีบาบาก็ช่วยประชาสัมพันธ์การลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น 

"อาลีบาบาได้เริ่มมีการเจรจาและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยเกือบ 2 ปีก่อนตัดสินใจ และตนได้รับมอบหมายจาก รองนายกฯสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ให้เข้ามาเป็นหัวหน้าทีมในการเจรจาตั้งแต่ที่ยังไม่ได้นั่งเก้าอี้ รมว.อุตฯ ทำให้รับผิดชอบในการเจรจาดีลนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป้าหมายของอาลีบาบาคือใช้ไทยเป็นฐานการขนส่งและกระจายสินค้าเป็นฐานหลักในเอเชีย โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยคนตัวเล็ก ผู้ประกอบการรายเล็ก แทนที่จะต้องไปผ่านคนกลาง ซึ่งแจ็ก หม่ามองว่าประเทศไทยมีโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของอาลีบาบา ขณะที่การลงทุนประเทศอื่นในอาเซียนเป็นเทคนิคอล แพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซเท่านั้น"

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็สามารถเจรจากับแพลตฟอร์มรายอื่น ๆ ได้ เพราะปัจจุบันธุรกิจประเภทนี้มีการแข่งขันจำนวนมาก และมีความหลากหลายมาก บางรายเน้นเรื่องอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม บางรายเน้นระบบโลจิสติกส์ ซึ่งเราเปิดรับทุกราย ล่าสุดกระทรวงดีอีอยู่ระหว่างการเจรจากับอเมซอน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญระดับคลาวด์ซิสเต็ม

ดีลต่อไป "แอร์เอเชีย" ตั้ง MRO

รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า สเต็ปต่อจากอาลีบาบา ทางกระทรวงอุตสาหกรรมยังคงเน้นการพัฒนา "อุตสาหกรรมอากาศยาน" ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-curve คือในส่วนของการตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ "MRO" (maintenance repair and overhaul) ซึ่งหลังจากบริษัทแอร์บัส จากฝรั่งเศส ได้ร่วมกับการบินไทย นำร่องไปตั้งศูนย์ MRO เป็นรายแรก โดยจะใช้พื้นที่ประมาณ 200 ไร่ บริเวณใกล้กับสนามบินอู่ตะเภา จากที่ทางการไทยได้เตรียมพื้นที่ไว้รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ 500-600 ไร่ ซึ่งจากพื้นที่ทั้งหมดคาดว่าจะรองรับผู้เข้ามาลงทุนได้ 3-4 ราย โดยรายที่ 2 ที่คาดว่าการเจรจาได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ก็คือ "แอร์เอเชีย" แนวโน้มลงตัวเพราะเป็นความตั้งใจของบริษัท ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการประเทศไทย

"แอร์เอเชียจะลงทุน MRO เหมือนกับแอร์บัส แต่ไม่ทับซ้อนกัน เพราะแอร์บัสเน้นศูนย์ซ่อมบำรุงสำหรับเครื่องบินขนาดใหญ่ A380 แต่แอร์เอเชียเป็นโลว์คอสต์แอร์ไลน์ เน้นให้บริการเครื่องบินขนาดกลางและขนาดเล็ก และยังต้องการพัฒนาเต็มรูปแบบไปสู่การเป็นโลว์คอสต์แอร์ไลน์เทอร์มินอล นอกจากนี้ยังมีสายการบินจากยุโรป และสหรัฐที่เข้ามาหารือกับบีโอไอ อีกสักระยะคงจะได้ข้อสรุป" 

นายอุตตมกล่าวว่า เรื่องสิทธิประโยชน์การลงทุนแต่ละรายจะได้รับ "ไม่เท่ากัน" ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของการลงทุนของแต่ละบริษัท ซึ่งเป็นหน้าที่ของบีโอไอที่จะพิจารณาข้อเสนอและรายละเอียดของแต่ละโครงการ ตามนโยบายการพัฒนาอีอีซี ซึ่งจะมีการยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ และเชื่อมโยงกับสนามบินอื่น ๆ ดังนั้นในบริเวณนี้ รัฐมีแผนที่จะส่งเสริมการลงทุนสร้างรันเวย์และเทอร์มินอลเพิ่ม

ปั้นอุตฯ ชิ้นส่วนอากาศยาน

รมว.อุตฯกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเจรจาตั้ง "MRO Hub" ของเอเชีย เนื่องจากอุตสาหกรรมอากาศยานขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะเอเชีย ซึ่งจำนวนเครื่องบินโดยสารที่ขายอยู่ทั่วโลก เอเชียมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ถึง 48% และยังขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ไทยซึ่งมีทำเลเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้รับความสนใจจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน รวมถึงสายการบินที่เปิดเส้นทางบินในเอเชีย ต้องซื้อเครื่องบินมากขึ้น และมีศักยภาพก็ลงทุนพัฒนาศูนย์ซ่อมสร้างเอง รวมทั้งการจัดสรรพื้นที่สำหรับส่งเสริมการลงทุน MRO แล้ว เป้าหมายก็คือการจัดสรรพื้นที่อีกส่วนในบริเวณใกล้เคียงเพื่อ "ส่งเสริมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานของประเทศไทย" เพื่อรองรับศูนย์ MRO ขณะเดียวกันก็เป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพร่วมในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนบางอย่างป้อนให้กับผู้ผลิตต่างชาติ ซึ่งจะเป็นการรวบรวมผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จากเดิมที่ลงทุนจะกระจัดกระจายไปในหลาย ๆ พื้นที่ โดยมีเป้าหมายให้เป็นรูปธรรมในปีนี้

สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมรถพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ก็มีแผนพัฒนาชัดเจนในการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอีวี และแบตเตอรี่ ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เกือบทุกรายก็มีการประกาศการลงทุนชัดเจน ซึ่งก็จะเป็นการพัฒนาจะรถไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริดไปสู่รถพลังงานไฟฟ้า

แพ็กเกจลงทุน "เมืองใหม่" พ.ค.

นายอุตตมกล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานอีอีซี บีโอไอ และกระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการจัดทำกรอบเงื่อนไขการลงทุนเมืองใหม่สำหรับเป็นที่พักอาศัย แบบที่เป็นเมืองสีเขียวรองรับแรงงานในอีอีซี ซึ่งทางบีโอไอจะไปดูว่าจะส่งเสริมสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเสนอในการประชุมบีโอไอได้ในเดือนพฤษภาคมนี้

"กำลังดีไซน์แพ็กเกจสิทธิประโยชน์ส่งเสริมด้านการลงทุน ส่วนหนึ่งก็อยากจะใช้ที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ก็ไม่ห้ามใครจะซื้อที่ดินเอกชนมาสร้างก็ไม่ห้าม หรือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สนใจ หรือมีที่อยู่อาศัยที่สามารถป้อนตรงนี้ก็มาเสนอได้ ทางบีโอไอจะดูตามเนื้อผ้าว่าเข้าตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กำหนดมั้ย"