ฟอร์ด บุกตลาด "อีวี" ในอินเดีย

อัปเดตล่าสุด 2 เม.ย. 2561
  • Share :
  • 634 Reads   

"ฟอร์ด มอเตอร์ส" ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญในแดนภารต โดยเซ็นสัญญาพาร์ตเนอร์ชิปร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สัญชาติอินเดีย "Mahindra & Mahindra" เพื่อร่วมพัฒนาโมเดลรถใหม่หลายรุ่น โดยฟอร์ดหวังไว้ว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตีตลาดอินเดีย ที่แม้จะเป็นตลาดที่มีโอกาสอีกมาก แต่ก็เป็นตลาดที่ท้าทายของผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติอย่างมากทั้งในเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ยังไม่พร้อมต่อการผลิตนัก ความต้องการรถราคาถูกของผู้บริโภคทำให้ผู้ผลิตได้กำไรต่อคันน้อย

แถลงการณ์ของฟอร์ด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ระบุว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะทำให้ฟอร์ดสามารถใช้ฐานผลิตอินเดียเพื่อพัฒนา SUV รุ่นใหม่ รวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อผลิตและขายในตลาดอินเดียและประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ซึ่งต้องการรถยนต์ราคาไม่แรงนัก

โดยรายละเอียดหลัก ๆ คือ 1.ร่วมมือพัฒนา SUV ไซซ์กลาง บนแพล็ตฟอร์มการผลิตของ Mahindra แต่ทั้งนี้ 2 ค่ายจะผลิตโมเดลที่ต่างกันและแยกกันทำการตลาด 2.ร่วมมือพัฒนาโมเดลรถคอมแพ็กต์ SUV และรถยนต์ไฟฟ้าด้วยกัน และ 3.ทั้ง 2 ค่ายจะร่วมแชร์พาวเวอร์เทรน (เครื่องยนต์และทรานส์มิสชั่น) รุ่นเดียวกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคต

ฟอร์ดอาจจะซื้อเครื่องยนต์ราคาถูกจาก Mahindra สำหรับใช้ในรถยนต์รุ่นใหม่ที่ผลิตในอินเดีย 

ฟอร์ดยังเป็นหนึ่งในค่ายรถยนต์ที่ยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดอินเดียอยู่ เพราะมองว่าผู้คนหันมาใช้รถยนต์มากขึ้น ตามกำลังซื้อที่มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอินเดียเป็นตลาดรถยนต์ลำดับที่ 5 ของโลกในแง่ยอดขาย ขณะที่คู่แข่ง "เจนเนอรัล มอเตอร์ส" ปีที่แล้ว เพิ่งประกาศเลิกขายรถยนต์ของค่ายตัวเองในตลาดอินเดีย และเร่งลงทุนเพิ่มในตลาดที่มีกำลังซื้อเยอะกว่า ในประเทศที่ร่ำรวยแทน

ฟอร์ดถือเป็นค่ายรถต่างชาติซึ่งมีสเกลการผลิตที่ใหญ่ในอินเดีย ค่ายรถยนต์สัญชาติอเมริกันตั้งโรงงานผลิตขนาด 460 เอเคอร์ในคุชราต ซึ่งผลิตรถยนต์ได้ 240,000 คัน และเครื่องยนต์ 270,000 เครื่องต่อปี ด้วยไลน์การผลิตที่ทันสมัยเทียบเท่าในอเมริกาเหนือและยุโรป และในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน ก็มีโรงงานค่ายรถยนต์อื่นตั้งอยู่กว่า 20 ค่าย

ในทศวรรษให้หลัง หลังจากอินเดียเริ่มเปิดประเทศและค้าขายกับต่างชาติในปี 1991 ค่ายรถยนต์หลายค่ายทั่วโลกก็ลงไปลงทุนทำตลาดในอินเดีย และค่อย ๆ ขยายให้อินเดียกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านการผลิตรถยนต์ ด้วยยอดกว่า 3.8 ล้านคันต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนเกือบเทียบเท่ากำลังผลิตของเกาหลีใต้ รวมถึงเยอรมนี มหาอำนาจด้านรถยนต์

อย่างไรก็ตาม อินเดียก็ยังมีข้อจำกัดอีกมากสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พร้อม และเศรษฐกิจที่ไม่เชื่อมโยงกับซัพพลายเชนของโลก ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิต สามารถทำรายได้ได้เพียง 17% ของจีดีพีเท่านั้นเมื่อเทียบกับเกาหลีใต้และจีน ที่อุตสาหกรรมการผลิตคิดเป็น 29% จีดีพี และประเทศไทย 27% ของจีดีพี เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต 

นักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า หากอินเดียต้องการก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตรถยนต์ จะต้องขยายระบบนิเวศและสร้างห่วงโซ่การผลิตให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และต้องผลักดันให้อุตสาหกรรมการผลิตกลายมาเป็นอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาประเทศ ผลักดันแรงงานเข้าสู่กระบวนการทำงาน เพื่อที่จะแข่งกับผู้ผลิตในตลาดเอเชียตะวันออก เช่น ไทย ให้ได้