สุมิพล ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมการผลิต ร่วมเสวนา Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต

อัปเดตล่าสุด 21 มี.ค. 2561
  • Share :
  • 644 Reads   

คุณจิระพันธ์ อุลปาทร ประธานกรรมการ บริษัท เครือสุมิพล จำกัด เปิดเผยในงานสัมมนา Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต จัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (14 มี.ค. 2561) ว่า ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 กลุ่มอุตสาหกรรม 10 คลัสเตอร์ที่เป็น S-curve เดิม และ S-curve ใหม่ ล้วนเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งนวัตกรรม ที่จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นแสนอัตรา มีความต้องการแรงงานระดับฝีมือขั้นสูง รวมถึงเทคนิคเชี่ยนและวิศวกรด้านต่างๆ จำนวนมาก โดยบริษัทเครือสุมิพลฯ ผู้ประกอบธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิต จึงได้ประสานความร่วมมือผนึกกำลังของภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนรวม 14 แห่ง จัดตั้ง “สถาบันเทคนิคแห่งการเรียนรู้” (Technical Learning Academy) ณ สำนักงานธุรกิจแห่งใหม่ของบริษัทฯ ที่ทางเข้านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง เพื่อสร้างบุคลากรที่ขาดแคลนตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สถาบันแห่งนี้คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินงานได้ในไตรมาสแรกของปี 2562 

จากการประกาศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดกรอบระยะยาวในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรของชาติถือเป็นวาระสำคัญยิ่ง ประกอบกับ EEC ได้ถูกกำหนดให้เป็นโครงการนำร่องขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุค 4.0 ซึ่งประกอบไปด้วยนิคมอุตสาหกรรมเกือบ 30 นิคม มีโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 4,000 โรงงาน  และกำลังแรงงานกว่า 300,000 คน

สถาบันแห่งการเรียนรู้แห่งนี้ถือเป็นมิติใหม่ (New Perspective) นับเป็นโครงการบนความร่วมมือสานพลังประชารัฐเต็มรูปแบบ โดยกำหนดแนวทางความร่วมมือเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่ 1

สุมิพลในฐานะเป็นแกนหลัก ได้กำหนดแนวทางความร่วมมือดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม การจัดสรรทรัพยากรของแต่ละหน่วยงาน ร่วมกันพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เน้นหนักภาคปฏิบัติในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้ง 10 S-curve

ส่วนที่ 2

จากประสบการณ์ในการจัดฝึกอบรมทั้งโดยตัวเองและที่ร่วมกับหน่วยราชการหรือองค์กรอื่น พบข้อจำกัดหลายประการโดยเฉพาะในเรื่องเครื่องจักรกล อุปกรณ์ บุคลากรผู้ชำนาญการ และองค์ความรู้ ที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้แสวงหาพันธมิตรกับผู้ผลิตเครื่องจักรกล เครื่องมืออุปกรณ์ ตลอดจนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ทั้งที่เป็น Hardware และ Software ชั้นนำที่มีเป้าประสงค์เดียวกันให้เข้ามาร่วมโครงการ เพื่อสร้างโอกาสใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ที่ทันสมัยเป็นปัจจุบันตลอดเวลา ในลักษณะ non degree short course ทั้งด้านทฤษฎีและการปฏิบัติจริงครบ โดยนอกจากจะมีห้องเรียนหลากหลายขนาดพร้อมด้วยโสตดิจิตัลที่เสริมการเรียนรู้ต่างๆแล้ว จุดเด่นที่แตกต่างอยู่ที่ Learning Factory คือ การจำลอง line การผลิตชั้นสูงมาอยู่ใน academy

นอกจากนั้นได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานสำคัญอื่นไปแล้วอีกหลายแห่ง ทั้งภาคการศึกษาระดับอาชีวะศึกษาและอุดมศึกษา เช่น ศูนย์วิจัยพัฒนาการศึกษา EEC กับวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออก 12 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั่วประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรครูผู้สอนในลักษณะ “Training the Trainer” ซึ่งจะทำให้สามารถเร่งการดำเนินการให้กว้างขวางทวีคูณ

สถาบันแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบุคลากรที่ขาดแคลนตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตรงตามความต้องการของผู้ลงทุน โดยเตรียมพร้อมที่จะประสานงานทำความตกลงกับศูนย์วิจัยพัฒนาบุคลากร EEC กับ BOI ในเร็ว ๆ นี้

นอกจากการพัฒนาบุคลากรดังที่ได้กล่าวแล้ว ได้เตรียมพร้อมที่จะเป็นผู้ให้การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่ผู้ปฏิบัติงานตามสาขาที่อยู่ในสายงาน ปัจจุบันกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เร่งกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานและได้ประกาศใช้เป็นกฏหมายแล้วเกือบ 250 อาชีพ รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะมาตรฐานอาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศไปแล้วกว่า 400 อาชีพ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการอย่างแท้จริง ในการแยกแยะผู้ที่มีทักษะฝีมือออกจากผู้ทำงานแรกเข้าที่ยังไม่มีทักษะใด ๆ เป็นการผ่อนคลายความกังวลในเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาของต้นทุนและประสิทธิภาพของการผลิตที่เกิดขึ้นตลอดมา

การก่อสร้างสถาบันฯลุล่วงไปกว่า 70% คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินงานได้ในไตรมาสแรกของปี 2562 แล้ว จะเดินหน้าเป็นขั้น ๆ ครอบคลุมให้ประโยชน์แก่บุคลากรทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้ที่อยู่ในภาคแรงงานปัจจุบัน นักเรียนนักศึกษาที่จะเข้ามาสู่วัยทำงาน รวมถึงผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วยังไม่ได้ทำงาน ซึ่งทุกคนสามารถเข้ารับการฝึกอบรมเสริมความรู้ของตนเองได้ ทั้งนี้กิจกรรมทั้งหมดไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลกำไร

ผู้สนใจติดตามการดำเนินงานของสถาบันแห่งนี้ได้จากเว็บไซต์  www.sumipol.com